ตลาดหลักทรัพย์ เพิ่มดีกรีคุม “ชอร์ตเซล” ขู่ลงโทษโบรกฯไม่ร่วมมือ

ชอร์ตเซล

ตลาดหลักทรัพย์ฯเต้นเพิ่มดีกรีคุม “ชอร์ตเซล-โปรแกรมเทรดดิ้ง” บี้โบรกฯต้องรายงานธุรกรรมชอร์ตเซลผ่านบัญชี “omnibus” ยิบ หวังสกัดจับ “naked short sell” ไม่ส่งหลักฐานใน 15 วัน เจอบทลงโทษ พร้อมตั้งทีมตรวจจับธุรกรรมผิดปกติ ตลท.ถกนัดพิเศษ ชี้ยังไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือ “uptick rule”

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯไม่ได้นิ่งนอนใจในการกำกับดูแลธุรกรรมชอร์ตเซลและการซื้อขายด้วยโปรแกรมเทรดดิ้ง

โดยจะมีแนวทางการยกระดับการกำกับดูแลเพิ่มเติมด้วยกัน 3 ส่วน คือ 1.ประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยกระดับการตรวจสอบบัญชีประเภท omnibus account (บัญชีที่มีผู้ลงทุนร่วมกันหลายคนภายใต้บัญชีเดียวกัน) ซึ่งมีการซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรดดิ้ง

ทั้งนี้ แนวปฏิบัติที่ผ่านมาจะให้ส่งหลักฐานผ่านบริษัทสมาชิกมาพิสูจน์ว่า ลูกค้าที่มีการชอร์ตผ่านบัญชี omnibus มีหุ้นอยู่ในมือหรือไม่ ซึ่งจะพบปัญหาในการเข้าไปตรวจสอบที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน

ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯจึงกำหนดเป็นแนวปฏิบัติให้กับบริษัทหลักทรัพย์สมาชิก กรณีหากไม่สามารถส่งหลักฐานมาพิสูจน์ถึงการมีหุ้นไว้ในครอบครองก่อน จะสั่งขายภายในระยะเวลา 15 วัน ตลาดหลักทรัพย์ฯจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่า คือธุรกรรม naked short sell และจะดำเนินการทางวินัยกับบริษัทสมาชิกดังกล่าว

“จะมีคณะกรรมการวินัยพิจารณาลงโทษ ทั้งปรับเงิน, ภาคทัณฑ์, ตักเตือน, ระงับการซื้อขาย ขึ้นอยู่กับความผิดของการกระทำเพื่อความร้ายแรงของการกระทำความผิดนั้น ๆ”

นายรองรักษ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา ตลท.ได้ส่งหนังสือเวียนไปยังบริษัทหลักทรัพย์สมาชิก และที่ไม่ใช่สมาชิก รวมถึงคัสโตเดียน ให้ช่วยกำกับดูแลการซื้อขายชอร์ตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ตลท.กำหนดแล้วด้วย

รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล
รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล

2.จะทบทวนความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในการซื้อขาย ระหว่างผู้ที่ทำการซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรดดิ้งและไม่ใช่โปรแกรมเทรดดิ้ง โดยจะจำแนกประเภทตามผู้ลงทุนกลุ่มต่าง ๆ (รายย่อย, สถาบัน และต่างชาติ) โดยจะศึกษาเทียบเคียงจากต่างประเทศ

และ 3.จะมีการตั้งคณะทำงานพิเศษที่เป็น external investigator ให้เข้ามาช่วยทำการตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะต่อกระบวนการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการกำกับดูแลธุรกรรม naked short sell และโปรแกรมเทรดดิ้ง

โดยเบื้องต้นจะมีผู้แทนจากตลาดหุ้น NASDAQ และผู้แทนจากตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เข้ามาอยู่ในคณะทำงานชุดนี้ เพื่อเสนอแนะว่าการตรวจจับ naked short ในปัจจุบันควรจะมีมาตรการอะไรที่จะสามารถทำได้ดีขึ้นอีก

ส่วนกรณีสำนักงาน ก.ล.ต. มีหนังสือกำชับและข้อเสนอแนะ ในเรื่องการทบทวนกฎเกณฑ์ราคาเกี่ยวกับธุรกรรมชอร์ตเซล (price rule) โดยให้ปรับจาก zero plus tick (ชอร์ตเซลราคาจะต้องไม่ต่ำกว่าราคาตลาด) มาเป็น uptick rule (ชอร์ตเซลราคาจะต้องสูงกว่าราคาตลาด) นั้น

รองผู้จัดการ ตลท.กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯได้เรียกประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ (บอร์ด ตลท.) นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยบอร์ดมีข้อสรุปว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือ uptick rule เพราะเห็นว่ายังไม่มีปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดผลกระทบที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงของดัชนี (SET Index) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยมาโดยตลอด นับจากต้นปีจนถึงปัจจุบันขายไปแล้วกว่า 1.8 แสนล้านบาท”

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ถือว่า ตลท.รับฟังเสียงนักลงทุน โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบธุรกรรมชอร์ตเซลที่มีลักษณะ naked short มากขึ้น อย่างไรก็ดี แนวทางส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจสอบ ไม่ได้เป็นการไปสกัดกั้นระงับยับยั้ง

“หมายความว่า ตลท.จะต้องหาความจริงก่อน ถึงจะหาทางสกัดกั้นยับยั้ง ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการหรือไม่ แต่นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ในเวลานี้ ต้องการมาตรการที่ช่วยสกัดกั้นยับยั้ง และที่น่าสนใจก็คือ มาตรการที่สำนักงาน ก.ล.ต.เสนอ หรือการกลับมาใช้มาตรการ uptick แต่ ตลท.ยังไม่ดำเนินการ จึงค่อนข้างน่าผิดหวัง”

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ก.ย.-ต.ค.) ติดลบ 12% ขณะที่ MSCI World Index ติดลบ 7% โดยตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. MSCI World Index ฟื้นขึ้นมาแล้ว 6-7% แต่ SET Index บวกขึ้นมาแค่ 2% เท่านั้น แสดงว่ามีบางอย่างที่เป็นอุปสรรคในการฟื้นตัวของหุ้นไทย ขณะที่เวลาปรับตัวลง ก็ลงมากกว่า แต่ฟื้นได้น้อยกว่า

“เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯไม่มีมาตรการยับยั้ง จึงน่าจะทำให้บรรยากาศลงทุนไม่เปลี่ยนแปลง คือ ซบเซาเหมือนเดิม เพราะรายย่อยไม่กล้าที่จะลงทุน”