ก.ล.ต. ส่งหนังสือจี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มดีกรีคุมชอร์ตเซล-โปรแกรมเทรด

จอมขวัญ คงสกุล

สำนักงาน ก.ล.ต. ส่งหนังสือจี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มดีกรีคุมชอร์ตเซล-โปรแกรมเทรด ชี้ให้อำนาจบอร์ด ตลท.ดำเนินการได้อยู่แล้ว หากไม่สบายใจสามารถแก้ไขข้อบังคับเสนอ ก.ล.ต.ให้บอร์ดเห็นชอบแก้ไขข้อบังคับได้ พร้อมเตรียมเข้าตรวจสอบระบบจับธุรกรรม Naked Short ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มความมั่นใจนักลงทุน

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการสายกำกับบัญชี สายระดมทุน และสายสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ได้นิ่งนอนใจเกี่ยวกับการทำธุรกรรมชอร์ตเซลในตลาดหุ้นไทย เพราะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก

โดยเมื่อเช้าวันนี้ (20 พ.ย.) ได้ทำหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อเน้นย้ำว่าสำนักงาน ก.ล.ต. ให้อำนาจคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ (บอร์ด ตลท.) ในการทบทวนกฎเกณฑ์ราคา (Price Rule)

โดยบอร์ด ตลท. มีอำนาจในการใช้เครื่องมือ Uptick Rule ได้ นั่นคือการกำหนดการทำชอร์ตเซลให้ราคาจะต้องสูงกว่าราคาตลาดเท่านั้น ซึ่งสามารถดำเนินการได้เลย จากเดิมตอนนี้จะใช้ Zero Tick นั่นก็คือถ้าชอร์ตเซลราคาจะต้องไม่ต่ำกว่าราคาตลาด

“ถ้าตลาดหลักทรัพย์ฯอยากจะใช้ ก็ไปทบทวน Price Rule ได้ตามอำนาจ บอร์ด ตลท.ที่มีอยู่ ซึ่งเชื่อว่าหากดำเนินการน่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้”

นางสาวจอมขวัญกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน สำนักงาน ก.ล.ต.ก็ได้ระบุในหนังสือเกี่ยวกับการทำการซื้อขายด้วยระบบโปรแกรมเทรดดิ้ง อาทิ โรบอตเทรดหรืออัลกอริทึมเทรด (Algorithm Trade) ว่าให้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มกลไกในการตรวจสอบเรื่องของผู้ลงทุนที่แท้จริง (End-Beneficiary) ว่าเป็นใคร เพื่อทำให้รู้ได้ว่าเขาทำ Naked Short หรือไม่ (การขายหุ้นออกไปโดยที่นักลงทุนรายนั้นไม่ได้ถือหุ้นอยู่จริง)

โดยขอให้เริ่มที่ธุรกรรมโปรแกรมเทรดดิ้ง เพราะว่ามีมูลค่าซื้อขายสูงขึ้น เป็นธุรกรรมที่ต้นทุนต่ำ มีสเปรดแคบและวอลุ่มใหญ่ จึงรู้สึกว่ามีความเสี่ยงสูง ดังนั้นให้ตลาดหลักทรัพย์ฯไปเพิ่มกลไกในการตรวจสอบตรงนี้

และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ให้ตลาดหลักทรัพย์ฯไปทบทวนว่าโปรแกรมเทรดดิ้งต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียบเปรียบระหว่างลูกค้าสถาบันกับลูกค้ารายย่อย เพราะอย่างที่ทราบกันกรณีเป็นลูกค้าสถาบันความเสี่ยงต่ำจะมีข้อผ่อนปรนหลายเรื่อง ซึ่งเป็นที่มาว่าพอไม่ได้ look through เข้าไปอาจทำเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างลูกค้าสถาบันกับลูกค้ารายย่อยได้

“ตัวโปรแกรมเทรดดิ้งเป็นแค่วิธีการส่งคำสั่งซื้อขาย แต่หลักใหญ่ต้อง look through ไปว่าคนที่ส่งคำสั่งในโปรแกรมเทรดดิ้งเป็นใคร เป็นนักลงทุนสถาบันหรือว่าเป็นนักลงทุนรายย่อย ซึ่งถ้าไม่ใช่สถาบันที่มีความเสี่ยงต่ำ ควรจะต้องมีวิธีการที่สอดคล้องกันเพื่อไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่ว่าจะส่งคำสั่งซื้อขายด้วยวิธีไหน”

ซึ่งตอนนี้ธุรกรรมชอร์ตเซลกับโปรแกรมเทรดดิ้ง ทางตลาดหลักทรัพย์ฯทำได้อยู่แล้วตามอำนาจ บอร์ด ตลท. แต่ถ้าเกิดเห็นว่าข้อบังคับอาจจะไม่ครอบคลุมหรือไม่สบายใจ ก็สามารถจะแก้ไขข้อบังคับและเสนอให้สำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อจะได้นำเสนอคณะกรรมการ ก.ล.ต. (บอร์ด ก.ล.ต.) ในการเห็นชอบการแก้ไขข้อบังคับได้

นางสาวจอมขวัญกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต.จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อจะได้มั่นใจว่าระบบตรวจสอบของตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถที่จะตรวจจับธุรกรรม Naked Short ได้ ซึ่งถ้าเกิดไม่ได้ทำตามเกณฑ์จะส่งผลกับสภาพตลาดที่ซื้อขายอย่างผิดปกติ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการประสานกับทางตลาดหลักทรัพย์ฯเข้าไป

นอกจากนี้อยู่ระหว่างศึกษาเกณฑ์ของต่างประเทศเกี่ยวกับเกณฑ์ทางเลือก (Alternative Pricing Rule) ในการควบคุมชอร์ตเซล เพราะมีเกณฑ์ในลักษณะทริกเกอร์ Uptick ได้เลย ปกติจะใช้ Zero Tick แต่ถ้าเกิดมีการซื้อขายหลักทรัพย์ใดหรือสภาพตลาดผันผวนแล้วชนทริกเกอร์ที่ควรจะใช้ Uptick เกณฑ์ Alternative Pricing Rule ก็จะสามารถใช้เกณฑ์ Uptick ได้เลย ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียและผลกระทบก่อน และต้องนำไปรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนก่อนถึงจะออกเกณฑ์ได้