แบงก์โละทิ้งหนี้เสีย3แสนล้าน ดิ้นแก้เกมมาตรฐานบัญชีใหม่

แบงก์เจอมรสุมลูกใหม่ “มาตรฐานบัญชี IFRS9” บังคับใช้ปี 2562 เข้มตั้งสำรองหนี้มากขึ้น ดันภาระสำรองแบงก์ทั้งระบบพุ่ง 30-40% แบงก์อลหม่านเดินหน้าเร่งระบายหนี้เสียลดภาระ-ลดความเสี่ยง คาดยอดโละสต๊อกหนี้เสียปีนี้ทะยานกว่า 3 แสนล้าน ไทยพาณิชย์เผยเกณฑ์ใหม่กระทบทุนแบงก์ที่ไม่แข็งแกร่ง วงในยอมรับแบงก์บริหารต้นทุนที่เพิ่มขึ้นผ่านดอกเบี้ยเงินกู้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่สถาบันการเงินจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้จัดประเภทรายการในงบการเงินให้สะท้อนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ และการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงให้พิจารณาความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบสถาบันการเงิน แต่อีกด้านก็ทำให้ธนาคารมีภาระตั้งสำรองหนี้เพื่อป้องกันความเสี่ยงมากขึ้นด้วย เรียกว่าเป็นการสั่นสะเทือนวงการแบงก์พาณิชย์อีกระลอก

แบงก์ภาระสำรองเพิ่ม 30%

น.ส.อรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การบังคับใช้มาฐานบัญชีใหม่ IFRS9 จะส่งผลให้สถาบันการเงินโดยรวมมีภาระตั้งสำรองเพิ่มขึ้นราว 30% จากภาระการตั้งสำรองในปัจจุบัน โดยคำนวนจากคาดการณ์มูลค่าการสูญเสียตามความเสี่ยงตลอดอายุสัญญาการกู้ตามเกณฑ์ใหม่ จากที่เกณฑ์ปัจจุบันเป็นการตั้งสำรองจากคุณภาพหนี้ในปัจจุบันเท่านั้น

โดยปัจจุบันการตั้งสำรองของลูกหนี้ปกติที่ค้างชำระ 0-30 วัน สำรองแค่ 1% ของวงเงินสินเชื่อ แต่เกณฑ์ใหม่ให้ตั้งสำรองตามโอกาสความเสี่ยงในรอบ 12 เดือนข้างหน้า โดยอาจดูจากพฤติกรรมการชำระหนี้ในอดีตว่าเคยมีประวัติค้างชำระหรือไม่ และมองไปข้างหน้าว่าโอกาสจะผิดนัดชำระหรือไม่ ซึ่งหากมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ แบงก์ก็อาจต้องตั้งสำรองกลุ่มนี้มากกว่า 1%

สำหรับลูกหนี้ที่ค้างชำระ 30-90 วัน เดิมแบงก์ตั้งสำรอง 2% เกณฑ์ใหม่พิจารณาการตั้งสำรองบนโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ตลอดอายุสัญญาการกู้ เช่น หากค้างชำระแล้ว 1 งวด และมีความเสี่ยงผิดนัดชำระงวดที่ 2 แบงก์อาจต้องตั้งสำรองเพิ่มเป็น 10% หรืออาจต้องตั้งสำรองเต็ม 100% ได้

“เกณฑ์ใหม่นี้แบงก์ไม่สำรองก็ไม่ได้ เพราะคุณภาพหนี้จะบ่งบอกว่าเราต้องสำรองเท่าไหร่ ซึ่งเมื่อแบงก์ชาติมาตรวจก็ต้องถูกตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอยู่ดี”

ผลักภาระผ่าน ดบ.กู้

น.ส.อรอนงค์กล่าวว่า นอกจากนี้แบงก์ยังต้องมีภาระสำรองเพิ่มเติมสำหรับการให้วงเงินสินเชื่อด้วย แม้สินเชื่อดังกล่าวลูกค้าจะไม่ได้ใช้เต็มจำนวน แต่ธนาคารก็ต้องตั้งสำรองครอบคลุมวงเงินที่อนุมัติทั้งหมด ซึ่งท้ายที่สุดหากแบงก์มีต้นทุนเพิ่มขึ้น จากภาระการสำรองก็เชื่อว่ามีโอกาสที่แบงก์จะผลักภาระไปสู่ผู้กู้ผ่านการให้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ส่วนที่แบงก์ต่าง ๆ จะขายหนี้เสียออกมาก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้แบงก์ไม่ต้องแบกภาระสำรองมากเกินไป เพราะหากแบกรับหนี้เสียไว้ก็เท่ากับว่าเป็นต้นทุนของแบงก์ในการบริหารจัดการ โดยในส่วนของธนาคารก็ได้เตรียมพร้อมรับมือเกณฑ์ดังกล่าวไว้แล้ว หากบังคับใช้ในปี”62 ก็มั่นใจว่าจะมีสำรองเพียงพอ

แบงก์เร่งตัดขายหนี้เสีย

นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจเอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งนำสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ออกมาขายค่อนข้างมาก ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยรวม ๆ อยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีทั้งหนี้เสียในส่วนที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล โดยพบว่ามีสถาบันการเงินใหม่ ๆ ที่ไม่เคยขายหนี้ เริ่มนำหนี้เสียออกมาขายด้วย ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะสถาบันการเงินมีความกังวลเกี่ยวกับเกณฑ์มาตรฐานบัญชีใหม่ ที่กำหนดให้สถาบันการเงินต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มในส่วนที่ยังไม่เป็นหนี้เสียด้วย แม้เป็นลูกหนี้ปกติ แต่หากสถาบันการเงินมองว่ามีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระ ก็ต้องตั้งสำรองไว้เกือบเต็ม 100% เหมือนกลุ่มที่เป็นเอ็นพีแอลแล้ว ซึ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับแบงก์ที่ต้องหาเงินตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นภาระหนักจนทำให้แบงก์ต่าง ๆ มีการปรับขบวนการบริหารจัดการหนี้ โดยการนำหนี้เสียออกมาขายเพื่อลดภาระเกณฑ์การตั้งสำรองจากเกณฑ์ IFRS9

“เกณฑ์ IFRS9 จะทำให้สถาบันการเงินโดยรวมต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นกว่า 30-40% ดังนั้นเพื่อลดภาระตรงนี้ แบงก์ก็ต้องเร่งขายหนี้เสียที่มีออกมา เดิมแบงก์อาจคิดว่ามีระยะเวลาไม่ต้องรีบขาย แต่พอยอดหนี้ตกชั้นต้องสำรองสูงขึ้น และเริ่มมีการตกชั้นเร็วในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ แบงก์ก็ต้องหากระแสเงินสดไว้ตั้งสำรองให้เร็วที่สุด ดังนั้น อะไรที่เป็นภาระ แบงก์ก็ต้องระบายออกมา” นายปิยะกล่าว

โละพอร์ตหนี้บ้าน-รถ

นายปิยะกล่าวอีกว่า หนี้เสียที่ธนาคารพาณิชย์นำออกมาขายรอบนี้สังเกตได้ว่าเป็นหนี้ค่อนข้างสด คือหนี้ที่ค้างชำระเพียง 3 เดือน หรือเพิ่งเป็นเอ็นพีแอล ซึ่งต่างจากก่อนหน้าที่จะเห็นแบงก์เริ่มนำหนี้ออกมาขายก็ต่อเมื่อเป็นหนี้เสียนานกว่า 1 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันแบงก์มีการนำหนี้ออกมาขายโดยทันทีเพื่อลดภาระ ประกอบกับสถาบันการเงินก็ไม่มีความเชี่ยวชาญในการติดตามหนี้เท่าบริษัทรับซื้อหนี้ นอกจากนี้ แบงก์นำหนี้ที่มีหลักประกันออกขายมากขึ้นด้วย เช่น หนี้บ้าน หนี้รถยนต์ ต่างกับอดีตที่เกือบ 90% เป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน และคาดว่าปีนี้แบงก์จะนำหนี้บ้านออกขายเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทต้องปรับตัวรับซื้อหนี้บ้าน หนี้รถเข้าพอร์ตด้วย ปัจจุบันบริษัทมีหนี้คงค้างที่รับบริหารอยู่ที่ 1.35 แสนล้านบาท แบ่งเป็น หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) 90% และอีก 10% เป็นหนี้บ้าน และรถยนต์

โดยคาดว่าปีนี้สถาบันการเงินจะนำหนี้เสียออกมาขายราว 3 แสนล้านบาท จากปีก่อน ๆ อยู่ที่ราว 2 แสนล้านบาท ส่วนการรับซื้อหนี้ของ JMT ปีนี้ บริษัทคาดว่าจะรับซื้อหนี้เสียมาบริหารราว 30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปีก่อนที่มีการรับซื้อหนี้มาบริหารเพียง 18,000 ล้านบาท

เกณฑ์มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 กระทบแบงก์ไม่แกร่ง

นางกิตติยา โตธนเกษม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB กล่าวว่า เกณฑ์มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 จะส่งผลต่อสัดส่วนการตั้งสำรองของแบงก์เพิ่มขึ้น เพราะกำหนดให้แบงก์ต้องสำรองเพิ่มกรณีที่คาดการณ์ว่าสินเชื่อดังกล่าวมีความเสี่ยงจะเป็นหนี้เสีย ทำให้แบงก์ต้องตั้งสำรองและอาจขาดทุนทางบัญชีจากการคาดการณ์ว่าอาจเป็นหนี้เสีย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นหนี้เสียจริง ๆ แต่ก็ต้องสำรองทางบัญชีไว้ก่อน

ในส่วนของแบงก์ไทยพาณิชย์คงไม่กระทบมาก เพราะแบงก์มีการตั้งสำรองเกินเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนดไว้อยู่แล้ว และการบริหารหนี้เสียแบงก์ก็ยังคงเดิมไม่ได้เร่งขายออกมา เพราะแบงก์ต้องดูภาวะตลาดและราคาที่เอื้ออำนวย แต่กรณีแบงก์ที่ไม่แข็งแรง พอใช้เกณฑ์นี้อาจกระทบทำให้ต้องขายหนี้เสียเพื่อลดภาระได้

“IFRS9 ทำให้การตั้งสำรองของหนี้แต่ละชั้นเข้มงวดมากขึ้น เงินสำรองก็ต้องเพิ่มขึ้นทันที ก็เป็นไปได้สำหรับบางแบงก์อาจต้องบริหารหนี้เพื่อไม่ให้กระทบฐานะแบงก์ เหมือนแบงก์ในยุโรปที่เมื่อมีการใช้เกณฑ์มาตรฐานบัญชี IFRS9 ทำให้ต้องขายหนี้ออกมา เพื่อไม่ให้เป็นภาระแบงก์” นางกิตติยากล่าว

ส่วนหนี้บ้านที่เห็นแบงก์ต่าง ๆ นำออกมาขายในตลาด ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเพราะปี 2012-2013 แบงก์มีการแข่งขันการปล่อยกู้บ้านค่อนข้างมาก ทำให้เริ่มเห็นหนี้บ้านตกชั้นเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีนี้

รอ ธปท.ออกแนวปฏิบัติ

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากเกณฑ์ IFRS9 เชื่อว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ ธปท.จะออกเป็นเกณฑ์ให้แบงก์ปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบในแง่มุมต่าง ๆ และความเข้าใจเกี่ยวกับเกณฑ์ IFRS9 ของแต่ละแบงก์ก็มีความเข้าใจไม่เหมือนกัน

“เกณฑ์ใหม่แบงก์ก็เตรียมพร้อมไว้แล้ว อย่าไปคิดว่า IFRS9 จะเป็นภาระ เพราะเกณฑ์นี้เป็นมาตรฐานสากลก็มีข้อดีข้อเสีย ส่วนที่ว่าแบงก์มีการเร่งนำหนี้เสียออกมาขายจำนวนมากก็มีหลายสาเหตุ เพราะหนี้เสียเวลานี้ล้นกระเป๋าก็ไม่รู้จะทำอย่างไรก็ต้องนำออกมาขาย ส่วนผลกระทบเรื่องเกณฑ์ IFRS9 ต้องรอซักระยะ ตอนนี้ฝ่ายเกี่ยวข้องกำลังประมวลกันอยู่” นายปรีดีกล่าว