อีไอซี หั่นจีดีพีปี 67 เหลือโต 3% ใช้จ่ายภาครัฐ-ท่องเที่ยวโตต่ำ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ อีไอซี หั่นจีดีพีปี’67 เหลือ 3.0% จาก 3.5% และปี’66 เหลือโต 2.6% เหตุงบประมาณภาครัฐล่าช้า กดดันการใช้จ่ายภาครัฐหดตัว-ท่องเที่ยวฟื้นตัวช้าตามเศรษฐกิจจีนชะลอตัว คาดทั้งปีอยู่ที่ 36 ล้านคน จาก 38 ล้านคน ย้ำฟื้นตัวช้า ไม่แน่นอน พร้อมเสนอ 4 ทางออกแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ หลังศักยภาพไทยโตต่ำเฉลี่ย 3.03%

วันที่ 14 ธันวาคม 2566 นางสาวฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า อีไอซี ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 จากคาดการณ์เดิมที่ระดับ 3.0% มาอยู่ที่ 2.6% ส่วนหนึ่งมาจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ต่ำกว่าคาดมาก

รวมถึงงบประมาณที่มีความล่าช้า ส่งผลให้การใช้จ่ายภาครัฐหดตัว ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มลดลงจากประมาณการเดิมจาก 30 ล้านคน เหลือ 28 ล้านคน ส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวจีนที่ชะลอตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวสะสมล่าสุด ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2566 อยู่ที่ 25.7 ล้านคน ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะสามารถทำได้ตามคาดการณ์

ทั้งนี้ คาดการณ์อัตราการขยายตัวจีดีพีในปี 2567 อยู่ที่ 3.0% จากเดิมอยู่ที่ 3.5% (ไม่รวมดิจิทัลวอลเลต) กรณีรวมจะบวกเพิ่ม 1-2% ภายในระยะเวลา 2 ปี อย่างไรก็ดี แนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยวจะยังเห็นผลกระทบต่อเนื่องถึงปี 2567 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะอยู่ที่ 36 ล้านคน จาก 38 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะมีเครื่องยนต์ภาคการส่งออกมาช่วยขับเคลื่อนในการเติบโตจากปี 2566 ที่มีอัตราการเติบโตติดลบ -1.5% และจะกลับมาโตเป็นบวกในปี 2567 อยู่ที่ 3.7% ตามการขยายตัวของภาคการค้าโลกที่คาดว่าจะโต 3-4% ทั้งนี้ สินค้าที่คาดว่าจะขยายตัวจะประกอบด้วย 2 ส่วนคือ อาหารและเครื่องดื่ม และอิเล็กทรอนิกส์ที่ฟื้นตามวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับดีขึ้น

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ระดับ 4.4% ตามการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงการลงทุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าในทุกปี หากดูจากข้อมูลไทยฟื้นตัวช้าเป็นอันดับที่ 155 จาก 189 ประเทศของโลก

ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงอยู่ในระดับปัจจุบันที่ 2.5% ไปตลอดปี 2567 เนื่องจากเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่ระดับศักยภาพในระยะยาว (Neutral rate) และช่วยเอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ได้ และช่วยสร้างความสมดุลในระบบการเงินจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงกลับเป็นบวกได้ โดยเป็นการลดแรงจูงใจในการก่อหนี้ใหม่ของครัวเรือนและลดการประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป จากภาวะดอกเบี้ยต่ำนาน

ขณะที่เงินบาทจะทรงตัวในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ และจะแข็งค่าต่อเนื่องอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2567 จากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมของภาครัฐและแนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ลดดอกเบี้ย

สำหรับเศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงเป็น 2.5% จาก 2.7% ในปี 2566 จากผลของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงเงินออมส่วนเกินที่ใกล้หมด โดยเฉพาะสหรัฐ นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มชะลอลงทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลาง จากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กดดัน ในระยะปานกลางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แต่จะขยายตัวต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด จากปัจจัยกดดันรอบด้าน โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

อย่างไรก็ตาม จากอัตราเงินเฟ้อโลกที่ลดลงเร็ว ก็มีผลทำให้แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักมาถึงเร็วขึ้น จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยในครึ่งหลังของปีหน้า มาเป็นในไตรมาส 2 ปี 2567

“ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยคือ เศรษฐกิจโลกและจีนที่โตช้าลง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยายวงกว้างขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ที่อาจจะกระทบต่อกำลังซื้อให้ฟื้นตัวได้ยาก แต่ยังมีปัจจัยบวกเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ดี สะท้อนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เท่ากัน และไม่แน่นอน และเศรษฐกิจโลกเองก็มีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย แต่โดยรวมเศรษฐกิจไทยปีหน้าและปีต่อไปยังเป็นการเติบโตแต่ต่ำกว่าศักยภาพ”

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า ในระยะยาว SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยยังน่าห่วง เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำบนศักยภาพการเติบโตที่ลดลง อันเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน ทั้งการลงทุนต่ำ ผลิตภาพการผลิตลดลง และแผลเป็นจากวิกฤตโควิด ซึ่งชัดเจนว่าไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิดได้ช้าติดอันดับรั้งท้ายในโลก

อีไอซี หั่นจีดีพีปี 67 เหลือโต 3% ใช้จ่ายภาครัฐ-ท่องเที่ยวโตต่ำ
นายสมประวิณ มันประเสริฐ

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเปราะบางและอ่อนแอจากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็กที่ยังมีหนี้สูง แต่รายได้เติบโตช้า อีกทั้งเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศ

เช่น ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยภายในประเทศที่ยังต้องจับตานโยบายรัฐบาลที่มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้ทรัพยากรภาครัฐมีจำกัดในการใช้จ่ายเพิ่มเติม เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการลงทุนเพิ่มศักยภาพประเทศในระยะยาว

ทั้งนี้ SCB EIC เสนอแนวทางแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยด้วยชุดนโยบาย “4 สร้าง” ได้แก่

1.สร้างภูมิคุ้มกันให้ครัวเรือน ผ่านการสร้างกลไก Social assistance และ Social insurance ที่ครอบคลุมและเพียงพอ

2.สร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย ผ่านการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า ปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศ และผลักดันไทยให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งจะช่วยเร่งให้ไทยเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD ได้

3.สร้างกลยุทธ์การลงทุนของประเทศให้เหมาะสมกับพลวัตโลกที่เปลี่ยนไป และ

4.สร้างความยั่งยืนของภาคการผลิตไทย ผ่านการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญเอื้อให้ภาคธุรกิจปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยเป็นภาวะปกติที่ไม่เหมือนเดิม แม้ว่าจีดีพีจะกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ แต่ในระยะต่อไปศักยภาพไทยจะลดลง เพราะหากดูข้อมูลในอดีต 20 ปีที่ผ่านมา จีดีพีโต 8% และ 10 ปีก่อนเหลือโต 5% และตอนนี้เราโตได้ 3% เราก็ดีใจแล้ว ดังนั้น มองว่าในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยอยู่ใน 3 คำก็คือ โตช้า เปราะบาง และไม่แน่นอน

ซึ่งจากที่เราทำตัวเลขจีดีพียาวไปถึงปี 2567-2588 จีดีพีโดยเฉลี่ยจะโต 3.03% เทียบช่วงก่อนโควิด-19 ที่โตเฉลี่ยที่ 3.45% โดยปัจจัยมาจากการกระจุกตัวของการเติบโตของเศรษฐกิจ และความเปราะบางของหนี้ครัวเรือนเป็นหลัก ส่วนแนวทางการแก้หนี้ที่ทางภาครัฐออกมานั้น มองว่าการแก้หนี้จะต้องใจเย็น ที่สำคัญไม่ได้เกิดจากการลดหนี้เพียงอย่างเดียว จะต้องควบคู่กับรายได้ที่เพิ่มด้วย ซึ่งตรงนี้ก็จะต้องไปดูที่โครงสร้างพื้นฐานของเราอีก จึงเป็นเรื่องไม่ง่าย น่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีจะเห็นภาพชัดขึ้น”