ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังตัวเลข PCE ต่ำกว่าคาด

dollar

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังตัวเลขการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป หรือ PCE ต่ำกว่าคาด ขณะที่แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.3% ในไตรมาส 4/2566

วันที่ 25 ธันวาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/12) ที่ระดับ 34.62/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/12) ที่ระดับ 34.57/60 ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย หลังย่อลงต่ำสุดที่ระดับ 34.47 ช่วงคืนวันศุกร์ (22/12)

เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.8% จากระดับ 2.9% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวลง 0.1% ในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าทรงตัว หรือปรับตัวขึ้น 0.0% จากระดับ 0.0% ในเดือนตุลาคม

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 3.2% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.3% จากระดับ 3.4% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพฤศจิกายน ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.2% จากระดับ 0.1% ในเดือนตุลาคม

นอกจากนี้ยังได้มีการเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐพุ่งขึ้น 5.4% ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้นเพียง 2.0% หลังจากดิ่งลง 5.1% ในเดือนตุลาคม ในขณะที่ยอดขายบ้านใหม่ดิ่งลง 12.2% สู่ระดับ 590,000 ยูนิตในเดือนพ.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 695,000 ยูนิต จากระดับ 672,000 ยูนิตในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปียอดขายบ้านใหม่ปรับตัวขึ้นจากระดับ 580,000 ยูนิตในเดือนพฤศจิกายน 2565

นอกจากนี้ราคาเฉลี่ยของบ้านใหม่ลดลง 6% สู่ระดับ 434,700 ดอลลาร์ในเดือนพฤศจิกายน ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.3% ในไตรมาส 4/2566 หลังจากมีการขยายตัว 2.2%, 2.1% และ 4.9% ในไตรมาส 1, 2 และ 3 ตามลำดับ

สำหรับปัจจัยในประเทศกระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2566 การส่งออกมีมูลค่า 23,479 ดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.9% จากที่ตลาดคาดว่าจะเติบโตราว 5% ส่งผลให้ตัวเลข 11 เดือนแรกขอปี 2566 การส่งออกมีมูลค่า 261,770.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขเฉลี่ยหดตัวลดลงเหลือ 1.5% และมั่นใจว่าทั้งปีจะติดลบน้อยลงอีก

ขณะที่การนำเข้าในเดือนพฤศจิกายน 2566 มีมูลค่า 25,879.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึง 10.1%1 จากมูลค่าการนำเข้าน้ำมันและการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น ส่วน 11 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่านำเข้า 267,935.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 3.8% ในเดือน พ.ย. 66 ไทยยังขาดดุลการค้า 2,399.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 11 เดือนแรกของปี ขาดดุลการค้า 6,165.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยทางปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงเป้าหมายการส่งออกในปี 2567 ว่าต้องรอดูการส่งออกในช่วงเดือนธันวาคมที่เป็นทางการ ก่อนจะประเมินภาพรวมและแนวโน้มสำหรับปีหน้า ซึ่งก่อนหน้านี้ได้คาดไว้ว่าจะเป็นการส่งออกปีหน้า เติบโตได้ราว 2% จากปีนี้ ทั้งนี้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.57-34.64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.60/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/12) ที่ระดับ 1.1005/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/12) ที่ระดับ 1.1017/21 ตลาดทรงตัวเนื่องจากเป็นช่วงสิ้นปีประกอบกับวันนี้ฝั่งยุโรปปิดทำการเนื่องจากวันคริสมาสต์ โดยตลาดรอดูปัจจัยใหม่อื่นเพิ่มเติม โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0992/1.020 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1013/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/12) ที่ระดับ 142.29/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/12) ที่ระดับ 141.72/73 โดยในวันนี้ (25/2) นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ BOJ จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% และ BOJ จะพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน หากแนวโน้มมีที่ BOJ จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหลอยู่ในกรอบระหว่าง 142.11-142.54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 142.37/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือนตุลาคมจากเอสแอนด์พี/เอส-ซิลเลอร์ (26/12) ดัชนีการผลิตเดือนธันวาคมจากเฟดริชมอนด์ (27/12) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (28/12) ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือนพฤศจิกายน (28/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.75/9.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -13.00/-11.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ