บาทแข็งค่า ท่ามกลางปริมาณซื้อขายที่เบาบาง ก่อนวันหยุดยาว

ค่าเงินบาท-ธนบัตร-bank note
ภาพ : REUTERS

เงินบาทแข็งค่า ท่ามกลางปริมาณซื้อขายที่เบาบางก่อนวันหยุดยาว ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดแนวโน้มการส่งออกปี 2567 จะกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงเชิงลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ 

วันที่ 27 ธันวาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 27 ธันวาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/12) ที่ระดับ 34.49/50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (26/12) ที่ระดับ 34.55/56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์ก ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายที่เบาบางก่อนวันหยุดยาวในเทศกาลวันปีใหม่ และการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าเริ่มตั้งแต่การประชุมเดือน มี.ค. 2567

และนักลงทุนส่วนมากยังคาดการณ์ว่าในปี 2567 ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้นกว่า 1.5% ถึงแม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจเมื่อคืนนี้ยังคงแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ

โดยเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์เปิดเผยว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐยังคงเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน ที่ระดับ 4.8% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดในปีนี้ จากระดับ 3.9% ในเดือน ก.ย.

Advertisment

สำหรับปัจจัยในภูมิภาค สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า กำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมจีนเดือน พ.ย. พุ่งนี้ 29.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ส่วนในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 กำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมจีนอยู่ที่ระดับ 6.98 ล้านล้านหยวน ลดลง 4.4% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งดีกว่าในช่วง 10 เดือนแรกที่ลดลง 3.4%

ส่วนรายได้ของบริษัทอุตสาหกรรมที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของลดลง 6.2% ในช่วง 11 เดือนแรก ขณะที่รายได้ของบริษัทอุตสาหกรรมที่ลงทุนโดยต่างชาติลดลง 8.7% และกำไรของบริษัทอุตสาหกรรมในภาคเอกชนของจีนเพิ่มขึ้น 1.6%

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่า จีนมีแนวโน้มจะบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับ 5% ในปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งส่งเสริมการฟื้นตัวหลังโควิด-19 แต่การฟื้นตัวยังคงไม่แน่นอนเนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความอ่อนแออย่างต่อเนื่อง แรงกดดันจากภาวะเงินฝืดที่เพิ่มสูงขึ้นและความท้าทายอื่น ๆ ซึ่งนำไปสู่การเรียกร้องให้รัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

สำหรับปัจจัยในประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มการส่งออกปี 67 ว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจขยายตัวได้ไม่สูงมากที่ระดับ 2%YOY โดยจะได้รับแรงหนุนให้กลับมาขยายตัวได้สอดคล้องกับทิศทางการค้าโลกตามวัฏจักรของอุปสงค์ของสินค้าต่าง ๆ ตามที่องค์การการค้าโลก (WTO) มองว่าการค้าโลกจะขยายตัวได้มากขึ้นที่ราว 3.3% ในปี 2567 จากปี 2566 ที่คาดว่าจะหดตัวราว 0.8%

Advertisment

อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยในปีหน้ายังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงเชิงลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวได้อย่างเปราะบาง ท่ามกลางปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังกดดันอุปสงค์ในประเทศอยู่ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐและยูโรโซน มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากขึ้นจากสภาวะการเงินที่ตึงตัว แม้มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวแทนการถดถอยทางเศรษฐกิจ (soft landing)

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยท้าทายอื่น ๆ ที่อาจเข้ามากดดันการส่งออกไทยในปีหน้า ได้แก่ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ความผันผวนของค่าเงินจากการปรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลัก รวมถึงภัยแล้งที่ยังเป็นประเด็ที่ต้องติดตามต่อไป โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.37-34.55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.37/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/1) ที่ระดับ 1.1033/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (26/12) ที่ระดับ 1.1013/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบตามทิศทางของค่าเงินดอลลาร์และค่าเงินในภูมิภาค เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาและปริมาณการซื้อขายค่อนข้างเบาบางก่อนเทศกาลปีใหม่

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1028-1.1052 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1050/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/12) ที่ระดับ 142.82/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (26/12) ที่ระดับ 142.48/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานสรุปความเห็นการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 18-19 ธ.ค. พบว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติคงนโยบายการเงินผ่อนคลายพิเศษไว้ในการประชุมเดือนนี้

แต่กรรมการ 9 คนมีความเห็นแตกต่างกันระหว่างผู้ที่ระมัดระวังกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และผู้ที่เห็นความจำเป็นที่ต้องเริ่มเตรียมตัวสำหรับการยกเลิกนโยบายการเงินผ่อนคลายพิเศษในอนาคต แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีการหารือมากขึ้นถึงการยกเลิกนโยบายผ่อนคลายในอนาคต ทั้งจังหวะเวลาที่จะยกเลิกนโยบาย และอัตราการขึ้นดอกเบี้ยที่เหมาะสมหลังจากนั้น

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 142.41-142.84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 142.53/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีการผลิตเดือน ธ.ค.ของรัฐริชมอนด์ (27/12), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยประจำเดือน พ.ย. (28/12), ตัวเลขดุลการค้าไทยประจำเดือน พ.ย.จากธนาคารแห่งประเทศไทย (28/12), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (28/12) และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายประจำเดือน พ.ย. (28/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.00/8.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่งประเทศอยู่ที่ -10.75/-9.55 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ