จับตา “หุ้นกู้”

จับตา หุ้นกู้
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : อำนาจ ประชาชาติ

ปี 2566 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ตลาดทุนบ้านเราไม่ดีเอาเสียเลย

เพราะนอกจาก “ตลาดหุ้น” ที่ทำผลงานแย่เกือบที่สุดในโลกแล้ว

“ตลาดหุ้นกู้” ยังออกอาการระส่ำระสายไม่แพ้กันด้วย

จากการที่มีบริษัทชื่อดังหลายแห่งที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง จนนำไปสู่การ “เลื่อน” ไถ่ถอนหุ้นกู้ รวมบางแห่งก็ถึงขั้น “ผิดนัดชำระหนี้”

ทั้งบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจบันเทิง

Advertisment

แต่ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนเขย่าตลาดหนักที่สุด ก็คือเคส STARK ที่มีการตกแต่งบัญชี มีมหากาพย์การโกงเกิดขึ้น จนทำให้นักลงทุน “ขาดความเชื่อมั่น” หวาดผวากันไปหมด

ยิ่งระยะหลัง ๆ หุ้นกู้เริ่มขายยากขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากปัจจัยความเชื่อมั่น ประกอบกับต้นทุนหุ้นกู้ที่พุ่งขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นด้วย

ขณะที่ในปี 2567 นี้ สถานการณ์ก็ยังดูจะ “น่ากังวล” ไม่น้อย

เพราะบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งกำลังประสบปัญหา “ขาดสภาพคล่อง” จนถูกปรับลดเครดิตเรตติ้งขององค์กรลง

Advertisment

ทำให้เกิดการมองว่า “ตลาดหุ้นกู้”ยังคง “น่าเป็นห่วง”

จนจะต้องตั้ง “กองทุนพยุงหุ้นกู้” ขึ้นมาดูแล

โดยไอเดียตั้งกองทุนนี้มีกระแสมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ล่าสุดก็ปรากฏข่าวออกมาอีก

ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KS ชี้ว่า หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2567 มีอยู่กว่า 1 ล้านล้านบาท

ซึ่งต้องติดตามว่า ทางรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีแนวทางดูแลอย่างไร เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อสภาพคล่องและเกิดการเบี้ยวหนี้

ซึ่ง บล.กสิกรไทย มองความเป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ

1.ตั้งกองทุนดูแลหุ้นกู้เฉพาะที่มีเครดิตเรตติ้ง หรือ

2.ตั้งกองทุนดูแลทั้งระบบ เพื่อไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ มองเป็นปัจจัยบวกกับกลุ่ม Finance และอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้อง Rollover หุ้นกู้ในปีนี้

เมื่อสอบถามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการคาดการณ์ว่า อาจจะต้องใช้เงินระดับ “แสนล้านบาท” และเน้นดูแลหุ้นกู้ที่มี “เรตติ้ง” เป็นหลัก ส่วนพวก “น็อนเรต” ไม่เข้าข่าย

นอกจากนี้ กองทุนที่ว่าดังกล่าว จะต้องยืดหยุ่นมากกว่า “กองทุน BSF” หรือ “กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้” ที่ตั้งขึ้นช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนักในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มองว่า ปัญหาในตลาดหุ้นกู้ ไม่ใช่ปัญหา “เชิงระบบ” จนถึงขนาดจะต้องตั้งกองทุนมาพยุง

โดย ก.ล.ต.มีการติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดและอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงเกณฑ์ต่าง ๆ ยกระดับให้เข้มข้นขึ้น

ทั้งนี้ สุดท้ายแล้ว “กองทุนพยุงหุ้นกู้” จะมีความจำเป็นและเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป คาดว่าจะมีความชัดเจนออกมาในเร็ว ๆ นี้