ช็อก! หุ้นกู้เบี้ยวหนี้ 2.2 หมื่นล้าน จับตา “ประชุม ITD-ศาลไต่สวน JKN“

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กางข้อมูล ”หุ้นกู้มีปัญหา” มูลค่าคงค้าง 3.9 หมื่นล้าน “ผิดนัดชำระหนี้” 7 รุ่น แตะ 2.2 หมื่นล้าน เฉพาะปี’66 มีมูลค่า 1.63 หมื่นล้าน จับตา 17 ม.ค.นี้ “ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ชี้ชะตา ITD“ 29 ม.ค. 67 ศาลนัดไต่สวนรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ JKN ”ThaiBMA-ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์ฯ“ กาง 3 แนวทาง เข้มออกหุ้นกู้

วันที่ 10 มกราคม 2567 นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า มูลค่าคงค้างหุ้นกู้ที่มีปัญหา ณ สิ้นปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 39,412 ล้านบาท (ไม่รวมหุ้นกู้ที่อยู่ในการฟื้นฟูกิจการ มูลค่า 73,057 ล้านบาท) โดยแยกเป็นหุ้นกู้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ (Default) มูลค่ารวม 22,295 ล้านบาท จำนวน 7 บริษัท เฉพาะหุ้นกู้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ในปีที่ผ่านมา มีจำนวน 5 บริษัท มูลค่าทั้งสิ้น 16,363 ล้านบาท ประกอบด้วย

– บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) (Non-rated) จำนวน 7 รุ่น มูลค่า 2,334 ล้านบาท
– บมจ.สตาร์ค คอร์เปเรชั่น (STARK) (BBB+) จำนวน 5 รุ่น มูลค่า 9,198 ล้านบาท
– บมจ. ช ทวี (CHO) (Non-rated) จำนวน 4 รุ่น มูลค่า 409 ล้านบาท (ล่าสุด CHO เจรจาขอยืดหนี้หุ้นกู้ได้สำเร็จ)
– บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) (Non-rated) จำนวน 7 รุ่น มูลค่า 3,212 ล้านบาท
– บริษัท เดสติเนชั่น รีสอร์ทส์ จำกัด (DR) (Non-rated) จำนวน 2 รุ่น มูลค่า 1,210 ล้านบาท

“กรณีหุ้นกู้ STARK ถือว่าเซอร์ไพรส์ตลาดมาก เพราะไม่ใช่หุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์ แต่อยู่ในอันดับเครดิต BBB+ ที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้จัดจำหน่ายด้วย จึงค่อนข้างส่งผลกะทบต่อเซนติเมนต์ตลาดอย่างหนัก ยอมรับว่าปีที่ผ่านมาเห็นการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้มากพอสมควร หลังจากที่ไม่เห็นมาช่วง 2-3 ปี”

ถัดมาในปี 2567 ขณะนี้มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว 1 บริษัทคือ บริษัท พี พี ฮอลิเดย์ จำกัด (PPH) (Non-rated) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 392 ล้านบาท สาเหตุเป็นเพราะจากผลกระทบสถานการณ์โควิดลากยาว ธุรกิจอาจยังไม่ได้ฟื้นตัวดีพอกับภาระหนี้ที่สะสม จึงมีปัญหาสภาพคล่องอยู่

Advertisment

อย่างไรก็ตามแม้ว่ามูลค่าคงค้างหุ้นกู้ที่มีปัญหา จะคิดเป็นสัดส่วนแค่ 0.8% ของมูลค่าคงค้างของหุ้นกู้ทั้งระบบ 4.75 ล้านล้านบาท แต่ก็ส่งผลต่อเซนติเมนต์ของการลงทุนของตลาดหุ้นกู้ เพราะหลายบริษัท เช่น STARK ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ BBB+ และ JKN ที่งบการเงินมีกำไร แต่อยู่ ๆ ก็มีปัญหา

แต่อย่างไรก็ตามภายใต้เซนติเมนต์ตลาดไม่ดี หลาย ๆ ผู้ออกหุ้นกู้โดยเฉพาะไฮยีลด์บอนด์ขายไม่หมด ต้องมีการชะลอการออกหุ้นกู้ไปบ้าง แต่ก็ยังเห็นหุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์ไม่ใช่ทุกรายจะถูกเหมารวมว่ามีปัญหา เพราะปี 2566 ยังเห็นผู้ออกหุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์ 16 บริษัท ที่ไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนด รวมมูลค่า 8,447 ล้านบาท

จับตาประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ITD ศาลรับคำร้องฟื้นฟู JKN

ทั้งนี้ความคืบหน้าของสถานการณ์หุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ สำหรับ STARK เมื่อเดือน มิ.ย. 2566 ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เรียกให้ชำระหนี้หุ้นกู้ STARK239A, STARK249A ทั้งหมดถึงกำหนดชำระโดยพลัน จากการที่ STARK ไม่สามารถนำส่งงบการเงิน และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เรียกให้หนี้ทั้งหมดของหุ้นกู้ 3 รุ่นที่เหลือถึงกำหนดชำระโดยพลัน

และช่วงเดือน ก.ค. 2566 สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวโทษกรรมการ อดีตกรรมการและผู้บริหารรวม 10 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หลังจากนั้นผู้แทนผู้หุ้นกู้ยื่นฟ้อง STARK ต่อศาลแพ่งให้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยของหุ้นกู้ทุกรุ่น

Advertisment

ถัดมาเดือน ส.ค. 2566 เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ 3,500 ราย ยื่นฟ้องกรรมการและผู้บริหารของ STARK แบบกลุ่ม (Class Action) ต่อศาลแพ่ง และล่าสุดเมื่อเดือน พ.ย. 2566 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อายัดทรัพย์สินของ STARK ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 16 รายการ มูลค่า 349 ล้านบาท

สำหรับ JKN ช่วงเดือน ก.ย. 2566 หลังจากผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ JKN239A มูลค่า 609 ล้านบาท และเป็นเหตุให้เกิด Cross Default แต่ผู้ถือหุ้นกู้ยกเว้นเหตุผิดนัดโดยขยายอายุออกไป 1 ปี และเพิ่มดอกเบี้ยจาก 6.6% เป็น 7% แต่ในช่วงเดือน ต.ค. 2566 ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ JKN แจ้งให้จัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ที่เหลืออีก 6 รุ่น เพื่อแก้ไขเหตุผิดนัด

และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ยังไม่ทันจะไปยื่นฟ้องศาลแพ่ง แต่ในเดือน พ.ย. 2566 ทาง JKN ใช้วิธีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางไปก่อน เพราะฉะนั้นตอนนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล โดยจะนัดไต่สวนอนุมัติคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 ม.ค. 2567 ทำให้กระบวนการฟ้องยังเดินหน้าไม่ได้ แต่ผู้ถือหุ้นกู้บางส่วนรวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้านคำขอฟื้นฟูกิจการแล้ว

นางสาวอริยากล่าวอีกว่า สำหรับ DR ช่วงเดือน ธ.ค. 2566 ทางผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ มีการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว และศาลได้รับคำฟ้อง โดยกำหนดวันพิจารณา/สืบพยาน วันที่ 18 ม.ค. 2567 สำหรับ PPH ขอเลื่อนชำระหนี้เงินต้นบางส่วนและดอกเบี้ยที่ครบวันที่ 28 ธ.ค. 2566 ไปเป็นวันที่ 28 ม.ค. 2567 ซึ่งตอนนี้ทางผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ยื่น Notice ไปแล้ว ต้องรอติดตามว่าจะจ่ายหรือไม่ หากไม่จ่ายทางผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ยื่นคงจะดำเนินการฟ้องร้องต่อไป

สำหรับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ตอนนี้ยังไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ โดยจะมีการเรียกกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นในวันที่ 17 ม.ค. 2567 อนุมัติใน 2 วาระคือ 1.พิจารณาผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (DE) โดยข้อกำหนดของ ITD อยู่ที่ 3 : 1 ซึ่งตอนนี้เริ่มปริ่ม ประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีการกู้เงินธนาคารเพื่อเสริมสภาพคล่องไปด้วย และ 2.ขอยืดหนี้ออกไปอีก 2 ปีและปรับเพิ่มดอกเบี้ยจ่าย

ดังนั้นหากรวมหุ้นกู้ที่กล่าวมาข้างต้น จะมีมูลค่าของการผิดนัดชำระหนี้ 28,467 ล้านบาท (กรณีนี้นับรวม ITD)

กาง 3 แนวทาง เข้มออกหุ้นกู้

สำหรับแนวทางการดำเนินงานที่สมาคมจะทำให้เห็นผลในปี 2567 คือ 3 เรื่องหลัก 1.เพิ่มการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของ Issuer (ผู้ออกหุ้นกู้) ซึ่งจะเน้นให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนทุนหมุนเวียน (Current Ratio) อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ อัตราส่วนหนี้สินต่อดอกเบี้ยจ่าย โดยจะมีประมาณ 8 เรโช ซึ่งทางสำนักงาน ก.ล.ต.บังคับให้เปิดเผย และโดยปกติการดูเรโชเหล่านี้มักเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมเพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลครบถ้วนในการตัดสินใจลงทุน

”ได้คุยกับตลาดหลักทรัพย์ฯแล้วว่าชุดข้อมูลของหุ้นกู้และหุ้นควรจะเป็นชุดเดียวกัน การขึ้นเครื่องหมายกำกับ ควรจะไปปรากฏเป็นข่าวในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย“

2.จัดทำ High Yield bond covenant (ข้อกำหนดทางการเงินที่ผู้ออกห้นกู้ต้องปฏิบัติ) ที่ครอบคลุมเงื่อนไขสาคัญเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุน เช่น การกำหนดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน แต่ที่ผ่านมาทุกบริษัทกำหนด DE แต่อาจจะไม่ได้เป็นอัตราส่วนที่เพียงพอในการปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุน ยกตัวอย่าง JKN กำหนด DE 3 : 1 ณ วันที่ผิดนัดชำระหนี้อยู่ที่ 1.5 : 1 เท่านั้น เพราะฉะนั้นอาจไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริงของธุรกิจก็ได้

ขณะเดียวกันแนวทางกำกับในต่างปรเทศ กรณีผู้ออกหุ้นกู้ไฮยีลด์ จะมีข้อกำหนดเพิ่มความระมัดระวังโดยพิจารณาข้อมูลทางการเงินไปถึงบริษัทย่อย/บริษัทแม่ด้วย

และ 3.จัดทำสัญญามาตรฐานของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อเพิ่มหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้/นายทะเบียน ที่มีต่อผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการทำหน้าที่ปกป้องประโยชน์ของนักลงทุนให้มีประสิทธิภาพ โดยจะเฮียริ่งช่วงต้นปีนี้