กองทุนพยุงหุ้นกู้ ”สมาคมตราสารหนี้“ ชี้ไม่จำเป็น ตลาดไม่ได้หยุดชะงัก

กองทุนพยุงหุ้นกู้

กองทุนพยุงหุ้นกู้ ”สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย“ ชี้ไม่จำเป็น ตลาดไม่ได้หยุดชะงัก เหมือนช่วงโควิดที่ตั้งกองทุน BSF แก้ปมระดมทุน-ซื้อขายได้ปกติ รับเศรษฐกิจมีความท้าทาย-อัตราดอกเบี้ยคงอยู่ระดับสูง ตลาดทุนไทยอยู่ในโหมด “ระมัดระวังมาก” เชื่อนักลงทุนแยกแยะได้ “ผิดนัดชำระหนี้” เป็นเรื่องเฉพาะกิจการ

วันที่ 10 มกราคม 2567 นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวถึงกระแสเรื่องการจัดตั้ง “กองทุนพยุงหุ้นกู้” ว่า ก่อนหน้านี้ ก็มีกองทุนพยุงหุ้นกู้ที่ชื่อว่า Bond Stabilization Fund : BSF ซึ่งเป็นกองทุนเฉพาะกิจที่ตอนนั้นจะต้องไปออกเป็น พ.ร.ก.วงเงิน 5 แสนล้านบาท เนื่องจากตลาดหุ้นกู้หยุดชะงัก แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีบริษัทไหนมาใช้เงินเลย และปัจจุบันกองทุนดังกล่าวก็หมดอายุไปแล้ว

โดยกองทุน BSF ถือเป็นกองทุนที่จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นกู้ และขอบเขตของกองทุนคือช่วยกลุ่มหุ้นกู้ระดับลงทุน (Investment Grade) ซึ่งสถานการณ์ตอนนั้นเป็นตลาดที่มีความกังวลมาก แม้แต่หุ้นกู้ Investment Grade ก็มีปัญหา ทั้งตลาดหยุดชะงักไปหมด

แต่เทียบสถานการณ์ตอนนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะกลุ่มหุ้นกู้ Investment Grade ไม่ได้มีปัญหา สามารถออกหุ้นกู้ใหม่และยังขายได้ตามปกติ

แต่หากจะมีการจัดตั้งกองทุนลักษณะนี้ขึ้นมาใหม่ มองว่า 1.คงไม่ได้ช่วยอะไรมาก เพราะว่าตอนนี้หุ้นกู้ Investment Grade ไม่ได้มีปัญหา และ 2.คงต้องพิจารณาเรื่องของกฎหมายอีกทีว่าทำได้หรือไม่

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า ไม่ใช่ว่าสมาคมไม่กังวลปัญหาของหุ้นกู้ เพราะสภาพของเศรษฐกิจปัจจุบัน เป็นสภาพที่มีความท้าทายมาก เพราะในยามที่อัตราดอกเบี้ยคงอยู่ในระดับสูง และก็มีปัญหาสารพัดกดดัน ไม่ว่าจะเป็น trade war หรือ real war รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยด้วย

เพราะฉะนั้นความท้าทายของตลาดหุ้นกู้มีอยู่ และตลาดทุนก็อยู่ในโหมด “ระมัดระวังมาก” แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อในตลาดทุนไทย โดยตลาดตราสารหนี้ไทยมีการเติบโตที่ดีพอสมควร และนักลงทุนพอจะแยกแยะได้ว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นเรื่องเฉพาะของกิจการ เวลาที่จะตัดสินใจลงทุนจึงต้องระมัดระวังขึ้น รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสมของพอร์ตโฟลิโอตัวเอง รู้ว่ารับความเสี่ยงในเชิงเครดิตและความเสี่ยงเชิงสภาพคล่องได้มากน้อยแค่ไหน

“คงเป็นการบ้านใหญ่สำหรับ CFO และ Financial Advisor และ Underwriter ในการใช้ตลาดการเงินไทย ซึ่งจะต้องมองในภาพกว้างขึ้น มีทางเลือกทั้งฝั่งสินเชื่อธนาคาร และตลาดตราสารหนี้ รวมถึงตลาดหุ้นให้มีความเหมาะสม และเผื่อเวลาสื่อสารกับนักลงทุนให้ได้เป็นอย่างดี”

ทั้งนี้ สำหรับหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ (ข้อมูลจนถึงวันที่ 5 ม.ค. 2567) มีมูลค่าทั้งหมด 28,467 ล้านบาท จำนวน 5 บริษัท