ธปท.จ่อคุยสภาพัฒน์ ทบทวนปรับชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์

ธปท.เตรียมถก สภาพัฒน์ ทบทวนอัตราผ่อนขั้นต่ำหนี้บัตรเครดิตจาก 8% เหลือ 5% หลังมีข้อเรียกร้อง ชี้เป็นการทยอยปรับอัตราชำระ ยอมรับมีลูกค้ากระทบบ้าง แต่ธนาคาร-น็อนแบงก์มีมาตรการช่วยเหลือ หากลดปรับขั้นต่ำดีกับลูกหนี้ระยะสั้น แต่เป็นผลเสียระยะยาว

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กรณีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เสนอให้มีการลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตจากปัจจุบัน 8% มาอยู่ที่ 5% นั้น ธปท.จะมีการหารือร่วมกับสภาพัฒน์ ถึงข้อดีและข้อเสียในการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพัฒน์ให้ความเป็นห่วงกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อนำมารูดซื้อสินค้าในการดำเนินธุรกิจ

อย่างไรก็ดี ธปท.มีความกังวลถึงผลกระทบ จะเห็นว่าการปรับอัตราการชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิต จะเป็นการทยอยปรับจาก 5% ไปเป็น 8% และ 10% ในลำดับถัดไป เพื่อลดผลกระทบ แต่ยอมรับว่ามีลูกค้าส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถชำระได้ โดย ธปท.ให้ผู้ประกอบธุรกิจทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) มีอยู่ 11 ราย ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าหากลูกค้ามีปัญหา โดยการปรับเปลี่ยนวงเงินบัตรเครดิตมาเป็นสินเชื่อผ่อนชำระ (Installment Loan) รวมถึงการลดดอกเบี้ย

“การปรับลดอัตราผ่อนขั้นต่ำลง ระยะสั้นอาจช่วยลูกหนี้ให้มีภาระผ่อนลง แต่ระยะยาวลูกหนี้อาจต้องเผชิญกับภาระผ่อนที่ยาวนานมากขึ้น เช่น หากเทียบวงเงินบัตรที่ 80,000 บาท ดอกเบี้ยที่ 16% หากลูกหนี้ผ่อนชำระขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ โดยผ่อนต่องวดเกิน 500 บาท จะต้องจ่ายไปอีก 8 ปี 6 เดือน โดยรวมดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้แบงก์ จากการจ่ายขั้นต่ำอยู่ที่ 27,000 บาท

ขณะเดียวกัน หากลูกหนี้ จ่ายขั้นต่ำ ไม่เกิน 500 บาท หรือที่ราว 5% ลูกหนี้จะต้องชำระไปเรื่อย ๆ และต้องใช้ระยะเวลาปิดหนี้ไปถึง 10 ปี 3 เดือน ยอดหนี้ถึงจะหมด ดังนั้น แม้จะดีระยะสั้น แต่เป็นการสร้างหนี้ในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการผ่อนชำระขั้นต่ำดังกล่าวไปเรื่อย ๆ ผลประโยชน์จะตกไปอยู่กับเจ้าหนี้ ที่จะได้รับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในระยะเวลานานขึ้น”