ผลิตภาพการผลิตของอุตสาหกรรมไทยเป็นอย่างไร ?

กิจกรรมการผลิตเอเชีย
AFP / China OUT
ผู้เขียนบทความ : ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ, ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล, อิทธิพัฒน์ ประภาประเสริฐ
              กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

 ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยที่มีระดับผลิตภาพสูงมักมีลักษณะที่เป็น รายใหญ่ เน้นการใช้เทคโนโลยี ได้รับการส่งเสริมจากรัฐ มีความเกี่ยวโยงกับต่างประเทศ และทำการวิจัยและพัฒนา

Productivity isn’t everything, but in the long run it is almost everything. นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง Pual Krugman ได้กล่าวไว้ว่า แม้ผลิตภาพการผลิตจะไม่ใช่ทุกสิ่ง แต่ในระยะยาวแล้ว
มันเกือบจะเป็นทุกอย่างเลยทีเดียว เนื่องจากความสามารถของประเทศที่จะยกระดับมาตรการความเป็นอยู่ในระยะยาวขึ้นอยู่กับความสามารถในการเพิ่มผลผลิตต่อแรงงานนั่นเอง

ดังนั้น หากนำมูลค่าผลผลิตมวลรวมของประเทศหรือ GDP มาหารด้วยจำนวนผู้มีงานทำ ก็จะได้ระดับผลิตภาพแรงงาน เพื่อชี้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้มีงานทำคนหนึ่งสามารถผลิตสินค้าได้เท่าใด หรืออีกนัยหนึ่งคือผู้มีงานทำนั้นสามารถสร้างรายได้ได้มากแค่ไหนนั่นเอง ดังนั้น เรื่องของผลิตภาพจึงเกี่ยวข้องกับความสามารถในการหารายได้ของทุกคน แต่หากจะพิจารณาอย่างคร่าว ๆ โดยใช้มูลค่า GDP หารด้วยประชากร หรือ GDP percapita แทนก็ได้ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดของธนาคารโลกพบว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 4 ของอาเซียนรองจาก สิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย ตามลำดับ

เมื่อหันกลับมาโฟกัสที่อุตสาหกรรมของไทยจะเห็นว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2565 โดยภาคการผลิตที่ฉุดเศรษฐกิจไทย คือ ภาคอุตสาหกรรมซึ่งหดตัวถึงร้อยละ -2.4 ต่อปี จึงเป็นที่น่าสนใจว่าผลิตภาพการผลิตในแต่ละสาขาการผลิตของไทยเป็นอย่างไร ?

ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล และ อิทธิพัฒน์ ประภาประเสริฐ นักเศรษฐศาสตร์จากกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้อาศัยข้อมูลระดับสถานประกอบการจำนวนมากถึง 4.4 แสนแห่ง จากรายงานสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม ปี พ.ศ. 2565 ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติเพิ่งนำออกมาเผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ มาวิเคราะห์เพื่อหาระดับผลิตภาพการผลิตรวม หรือ Total Factor Productivity (TFP) พบว่า ระดับผลิตภาพของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมมีความแตกต่างกัน

โดยอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีเข้มข้น (Capital Intensive) ส่วนใหญ่จะมีระดับผลิตภาพการผลิตรวมสูง โดยเฉพาะการจัดทำซอฟต์แวร์สำเร็จรูป การผลิตยานยนต์ การผลิตเครื่องมือและเครื่องจักร และการผลิตคอมพิวเตอร์ ขณะที่อุตสาหกรรมที่ใช้ปัจจัยแรงงานเข้มข้น (Labor Intensive) เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร การผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูป การผลิตสิ่งทอ การฟอกหนัง การแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก และการจัดการของเสียและรีไซเคิล มักจะมีระดับผลิตภาพการผลิตรวมที่ต่ำกว่า

หากพิจารณาในมิติอื่น ๆ ยังพบว่า สถานประกอบการที่มีผลิตภาพการผลิตรวมสูงส่วนใหญ่มักมีขนาดใหญ่ (Large) ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ EEC มักได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อีกทั้งมีการส่งออกในระดับสูงมากกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าผลผลิต และมีการร่วมทุนกับต่างประเทศ รวมทั้งมีการลงทุนทำวิจัยและพัฒนาอีกด้วย โดยในบรรดาปัจจัยที่กล่าวมาพบว่า การส่งออกในระดับสูง และการร่วมทุนกับต่างประเทศ เป็นสองปัจจัยหลักที่สร้างความแตกต่างในเชิงผลิตภาพให้กับสถานประกอบการมากที่สุด

ในทางกลับกัน สถานประกอบการขนาดย่อย (Micro) ย่อม (Small) และกลาง (Medium) มักไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือร่วมทุนกับต่างประเทศ ไม่ค่อยได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ (เช่น BOI) และเน้นการผลิตเพื่อขายภายในประเทศเป็นหลัก (Domestic-Oriented Firms) ซึ่งจะเห็นได้ว่าสถานประกอบการขนาดย่อยและย่อมเหล่านี้มักมีระดับผลิตภาพต่ำกว่าสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่

ดังนั้น หากสถานประกอบการขนาดเล็กเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมอาจทำให้ความแตกต่างด้านผลิตภาพการผลิตรวมของผู้ประกอบการรายใหญ่และเล็กยิ่งมีช่องว่างเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งจะนำมาสู่ปัญหาการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและการสร้างรายได้ของประเทศที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นในอนาคต

ดังนั้น นโยบายเพื่อสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพการผลิตรวมจึงควรสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม สร้างแรงจูงใจและบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนและพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมในวงกว้างด้วยการลดความแตกต่างระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพต่างกัน รวมทั้งบังคับใช้กฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงทรัพยากร สิทธิประโยชน์ อย่างมีความเท่าเทียมมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการยกระดับผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมไทยและการสร้างรายได้ที่สูงขึ้นในระยะยาว

อนึ่ง บทความนี้เป็นความคิดเห็นของคณะผู้เขียน ไม่ได้สะท้อนความคิดเห็นขององค์กร