นายกฯ มอบนโยบาย กรมศุลกากร แก้ทุจริตคอร์รัปชั่นต้องเป็นศูนย์

นายเศรษฐา ทวีสิน

นายกรัฐมนตรี มอบนโยบาย กรมศุลกากร กำชับแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นต้องเป็นศูนย์ ลดดุลพินิจเจ้าหน้าที่ เอกซเรย์ตู้สินค้าต้อง 100%

วันนี้ 28 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พร้อมด้วย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติงานให้กับผู้บริหารและข้าราชการกรมศุลกากร โดยมีนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร คณะผู้บริหาร และข้าราชการของกรมศุลกากรให้การต้อนรับ

นายเศรษฐา กล่าวว่า ได้เน้นย้ำกรมศุลกากรอำนวยความสะดวกทางการค้าให้มีความสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอน โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการปฏิบัติงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพระบบ National Single Window เพื่อลดขั้นตอนและกระบวนการของผู้ประกอบการ การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจปล่อยสินค้า

โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการตรวจปล่อยสินค้า เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ และสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการตรวจสอบหลังการตรวจปล่อยต่อไป สำหรับการค้าชายแดน ให้เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและเพิ่มความรวดเร็วในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร รวมถึงเน้นย้ำให้เพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำยาเสพติดและสินค้าผิดกฎหมายเข้ามาตามแนวเขตชายแดน โดยให้บูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญ ในการสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมในการปฏิบัติงานและการบริหารงานบุคคล หากมีการร้องเรียนหรือตรวจพบการทุจริต ให้ทำการตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นหลัก

“วันนี้มาประชุมครั้งแรก เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งตนก็ไม่ปฏิเสธ เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ รัฐบาลภายใต้การนำของตน เรื่องนี้ยอมไม่ได้เด็ดขาด และหากมีคดีความอะไร ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมูเถื่อน ยางพาราเถื่อนหรือสินค้าเถื่อน ให้ทุกคนมีความกระตือรือร้น และยึดตามระเบียบข้อปฏิบัติเป็นหลัก” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวภายหลังรับนโยบายจากนายกรัฐมนตรีได้ตรวจเยี่ยมและให้นโยบายผู้บริหารและข้าราชการกรมทั้ง 45 ด่าน ใน 4 เรื่อง ประกอบด้วย

1.เน้นดูแลเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น เนื่องจากกรมศุลกากรเป็นหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดประชาชน ก็อยากให้กรมฯ ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นให้เป็นศูนย์ทุกรูปแบบ เช่น การลดดุลพินิจของพนักงาน และเพิ่มเทคโนโลยีเข้ามาในกระบวนการตรวจสอบเพื่อเพิ่มความโปร่งใสมากขึ้น

ส่วนกรณีทุจริตที่ผ่านมาของกรมที่ผ่านมามีการดำเนินการอยู่ ได้กำชับให้มีการเร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบผู้กระทำความผิดก็ให้ดำเนินการตามกรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัด

2.เพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันของเถื่อน ที่ผ่านมา นายกฯให้การชื่นชมที่กรมได้สนองนโยบายรัฐบาลอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการดูแลเรื่องสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ได้กำชับให้ทำต่อและดูแลไม่ให้มีการลักลอบ ซึ่งกรมยืนยันว่าที่ผ่านมามีการเข้มงวดตรวจสอบตามระเบียบ

ขณะเดียวกันได้มีการเพิ่มมาตรการป้องกันความเสี่ยงในการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าผ่านแดน ซึ่งกรมได้ออกแนวทางในการตรวจสอบเพิ่ม ทั้งการเอกซเรย์ต้นทาง-ปลายทาง การชั่งน้ำหนัก การติดตามผ่านระบบ GPS และหากจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีก็พร้อมที่จะนำเข้ามาเสริม

3.นโยบายเอกซเรย์ตู้สินค้า นายกรัฐมนตรีต้องการให้มีการเอกซเรย์ตู้สินค้าให้ครบถ้วน 100% ทั้งหมดเพื่อลดดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการเปิดตรวจและเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ให้สามารถผ่านตู้สินค้าได้ทันที แต่หากมีความผิดปกติก็สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ แต่ก็ยอมรับว่าปัจจุบันการเอกซเรย์ยังมีข้อจำกัด ก็ต้องพิจารณาความเหมาะสมเรื่องของต้นทุนกับข้อดี แต่ก็พร้อมที่จะรับนโยบายนายกรัฐมนตรี หากต้องมีการจัดซื้อเพิ่มเติมก็พร้อมจะดำเนินการ

4.เร่งรัดและพัฒนาระบบรับข้อมูลใบอนุญาต Single Submission ให้เร็วขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการให้สามารถเชื่อมโยงการขอออกใบอนุญาตที่ครบถ้วน รวดเร็ว

“มาตรการนี้จะนำร่องสินค้าเกษตรใน 3 กลุ่ม 7 ชนิด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม และฟังก์ชั่นซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ภายในเดือน ก.ย. นี้ รวมทั้งเร่งรัดมาตรการ One Stop Service ศูนย์บริการชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 8 แห่ง จะดูความเหมาะสมว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงอะไรหรือไม่” อธิบดีกรมศุลกากรกล่าว

นายธีรัชย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วง 6 เดือนปีงบฯ 2567 (ต.ค. 66-มี.ค. 67) ว่า สามารถจัดเก็บได้เกินกว่าเป้าหมาย 2% ซึ่งหากพิจารณาจากสภาวะการค้าโลก มั่นใจว่าปีนี้จะสามารถบริหารจัดการการจัดเก็บรายได้ในปีนี้ให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ ส่วนการจัดเก็บภาษีใหม่ ๆ ขณะนี้ยังไม่มีนโยบาย เช่น เรื่องการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้หน่วยงานอื่น