ทริส หั่นอันดับเครดิต “BTS” ปมคนใช้รถไฟฟ้า “ชมพู-เหลือง” น้อย-ภาระหนี้สูง

รถไฟฟ้า BTS ขบวนรถไฟฟ้า
ภาพจาก ศูนย์ภาพเครือมติชน

ทริสเรทติ้ง ลดอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “BTS”  เป็น “BBB+” จาก “A-” แนวโน้ม “Stable”  ปมผลดำเนินงานต่ำกว่าคาด ผู้โดยสารรถไฟฟ้า “สีชมพู-สีเหลือง” น้อย-ภาระหนี้สูง

วันที่ 25 พฤษภาคม 2567 รายงานจากทริสเรทติ้ง เปิดเผยว่า ทริสเรทติ้ง ได้ประกาศลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เป็นระดับ “BBB+” จากระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”

โดยการปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนตัวกว่าที่คาด และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงจากการลงทุนต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของบริษัทที่มีความแข็งแกร่งจากการมีรายได้ค่าบริการที่สม่ำเสมอจากการให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง (Operating and Maintenance — O&M) ตามสัญญา ตลอดจนกระแสเงินสดรับจำนวนมากจากการลงทุนในสัดส่วน 33.33% ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) และการมีสถานะที่มั่นคงในธุรกิจสื่อโฆษณา

อย่างไรก็ดี สถานะทางการเงินอ่อนแอลง เนื่องจากผลการดำเนินงานต่ำกว่าคาด โดยบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อนของทริสเรทติ้งจากผลการดำเนินงานของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองที่อ่อนกว่าคาด

Advertisment

โดยทริสเรทติ้งประเมินว่า กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่มาจากการดำเนินงานหลักของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 3.4 พันล้านบาทในปีบัญชี 2567 เป็น 6.2 พันล้านบาทในปีบัญชี 2570

อย่างไรก็ตาม EBITDA ที่คาดการณ์ในครั้งนี้ต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งเคยคาดไว้เดิมจากการประเมินปริมาณผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองเมื่อเริ่มเปิดดำเนินการในช่วงแรก ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทจะทยอยลดลงจาก 20 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2567 (1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2566) เป็น 13 เท่าในปีบัญชี 2570 ซึ่งยังคงสูงกว่าระดับที่เหมาะสมสำหรับอันดับเครดิตเดิมของบริษัทที่ “A-”

ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการระบบขนส่งมวลชนและการเข้าซื้อเงินลงทุนในกิจการต่าง ๆ หลายแห่ง ทั้งนี้ แม้ว่าบริษัทได้รับชำระหนี้จากกรุงเทพมหานครในส่วนของค่าบริการงานจัดหาและติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (Electrical and Mechanical (E&M) Work) สำหรับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้และส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือแล้วทั้งจำนวน เป็นเงินประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาทเมื่อเดือนเมษายน 2567 แต่ภาระหนี้สินของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่สูง

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะทยอยได้รับชำระหนี้ค่าจ้างในการให้บริการ O&M จากกรุงเทพมหานครในปีบัญชี 2568-2569 และในช่วงระหว่างปีบัญชี 2567-2570 บริษัทมีแผนการลงทุนที่จำนวนประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท  ดังนั้น จึงคาดว่าหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วสุทธิของบริษัทจะลดลงเป็น 8 หมื่นล้านบาทในปีบัญชี 2570

Advertisment

สำหรับปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลืองต่ำกว่าที่คาด บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทร่วมทุน 2 แห่งร่วมกับผู้ร่วมทุนเพื่อลงทุนและดำเนินโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว 2 โครงการ (โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง) ภายใต้สัญญาสัมปทานในรูปแบบเอกชนได้รับสิทธิ์ในการจัดเก็บรายได้ (Public Private Partnership (PPP)-Net Cost Concessions) ที่ได้ลงนามไปเมื่อปี 2560 ภายใต้สัญญาสัมปทานดังกล่าว บริษัทร่วมทุนลงทุนในส่วนของงาน E&M สำหรับรถไฟฟ้ารางเดี่ยวเพื่อแลกกับรายได้จากผู้โดยสารรวมถึงรายได้จากสื่อโฆษณาและการพาณิชย์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองซึ่งเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูซึ่งเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 มีปริมาณผู้โดยสารน้อยกว่าที่คาดค่อนข้างมาก โดยรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 40,000 เที่ยวต่อวันและ 50,000 เที่ยวต่อวัน ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งเคยคาดการณ์ไว้ว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารต่อสายในช่วงปีแรกที่เปิดให้บริการที่ประมาณ 110,000 เที่ยวต่อวัน

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าปริมาณผู้โดยสารและรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าทั้งสองสายนี้จะทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีรายได้ต่อสายอยู่ที่ประมาณ 700-800 ล้านบาทในปีบัญชี 2568 และเพิ่มขึ้นเป็น 1.7-1.8 พันล้านบาทต่อสายในปี 2570

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ เดือนธันวาคม 2566 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1.22 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากธนคารพาณิชย์ต่าง ๆ อีกจำนวนประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทด้วย โดยในช่วง 12 เดือนข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวนประมาณ 1.6 พันล้านบาท และมีกระแสเงินสดรับจากการรับชำระค่าบริการ E&M จากกรุงเทพมหานครจำนวนประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าแหล่งเงินทุนดังกล่าวจะเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ของบริษัทซึ่งประกอบด้วยภาระหนี้เงินกู้ระยะยาวในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวนประมาณ 1.59 หมื่นล้านบาทและหนี้ระยะสั้นจำนวน 2.68 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะสามารถออกตราสารหนี้ใหม่เพื่อทดแทนตราสารหนี้ระยะสั้นที่ครบกำหนดอายุได้ และในปีบัญชี 2568 นั้นบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนจำนวนประมาณ 8 พันล้านบาท

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าได้ โดยข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวมีเงื่อนไขให้บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ระดับต่ำกว่า 2.5 เท่า ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 บริษัทมีอัตราส่วนภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 0.82 เท่า

ณ เดือนธันวาคม 2566 บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้นจำนวน 1.44 แสนล้านบาทซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อนที่จำนวน 3.6 หมื่นล้านบาท โดยหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อนนั้นเป็นหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันของบริษัทย่อย ดังนั้น บริษัทจึงมีอัตราส่วนหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมที่ระดับ 25%