ราคาน้ำมันดิบลด หลังประเทศพันธมิตรประกาศที่จะสนับสนุนข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านต่อไป

– ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังจากที่ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศที่จะยังคงสนับสนุนข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่านต่อไป ส่งผลให้คาดการณ์ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านจะลดลงไปไม่มากนัก ประกอบกับมีสัญญาณของอุปทานน้ำมันดิบของโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

– กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ระดับ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับกลางปี 2559 และมีกำลังการผลิตเกือบเทียบเท่ารัสเซียที่ระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ Baker Huges รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะประจำสัปดาห์ ณ วันที่ 11 พ.ค. 61 ปรับเพิ่มขึ้น 10 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 844 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 58

+ สหรัฐฯ มีแผนที่จะคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง หลังจากที่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้ประกาศที่จะไม่สนับสนุนข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่านอีกต่อไป ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีอุปทานลดลงจากการลดการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านลง ประกอบนักวิเคราะห์ของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านจะเริ่มลดลงในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณว่าประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพื่อชดเชยปริมาณน้ำมันดิบที่ลดน้อยลงจากอิหร่านแทน

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปสงค์ที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะจากอินโดนีเซีย ประกอบปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงมากกว่าคาดการณ์

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปทานที่ยังคงตึงตัว หลังโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคอยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม มีอุปทานจากจีนออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 69-74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 74-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

จับตาผลกระทบจากการถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านของสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการใช้น้ำมันโลกที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ประกอบกับผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกยังคงเดินหน้าปรับลดลงกำลังการผลิต

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบทรงตัวเหนือระดับต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตในสหรัฐฯ ส่งผลให้จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง