ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง กดดันสกุลเงินหลักทุกสกุล

ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (14/5) ที่ 31.81/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/5) ที่ 31.95/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางสหรับ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 2 จาก 2.96% เป็น 2.97% แม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะออกมาไม่ค่อยดีนัก โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้นต่ำกว่าคาด โดยเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวสูงขึ้น 0.3% และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ขยับขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 4 เดือน อีกหนึ่งปัจจัยที่ฉุดค่าเงินดอลลาร์ลงคือ อัตราผลตอบแทืนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวลดลง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 10 ปี ร่วงลงแตะระดับ 2.962% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 3.105% หลังตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐออกมาต่ำกว่าคาด ซึ่งทำให้โอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้มีโอกาสลดลงตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์ได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงระหว่างสัปดาห์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี เพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 3.10% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐรายงาน การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนเมษายน โดยได้แรงหนุนจากการดีดตัวของการผลิตเครื่องจักร โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าการผลิตภาคอุตาสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบรายปี การผลิตภาคอุตสาหกรรมพุ่งขึ้น 3.5% ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นการวัดการปรับตัวของภาคการผลิต เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 0.4% สู่ระดับ 78%ในเดือนเมษายน นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือที่มีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้น นอกจากนี้ นายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาลสหรัฐ และนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้ออกมาประกาศว่าสหรัฐพร้อมที่จะเปิดการค้าและการลงทุนกับเกาหลีเหนือ หากมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น ที่ประชุมคณะรกรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50 % ต่อปี (15/5) โดยในการประชุมครั้งนี้คณะกรรมการนโยบายการเงินประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากทั้งภาคต่างประเทศและอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น และดีกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ โดยเข้าสู่กรอบล่างของคาดการณ์แล้วในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.77-32.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลของค่าเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1961/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาด (11/5) ที่ 1.1942/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แต่อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวลดลงโดยได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลของอิตาลีนั้นมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยพรรค 5-Star Movement และพรรค League ซึ่งเป็นพรรคการเมือง 2 พรรคที่ใหญ่ที่สุดในอิตาลี ได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับแนวทางในการจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกันการเจรจาดังกล่าวมีขึ้นเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยหัวหน้าพรรค 5-Star Movement และพรรค League ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันระบุว่า ทั้ง 2 พรรคได้บรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกัน และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการต่อรองเกี่ยวกับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตลอดจนคณะกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีการเปิดเผยรายชื่อดังกล่าวออกมาในช่วงต้นสัปดาห์นี้ และผู้นำของทั้ง 2 พรรคจะเข้าพบประธานาธิบดีเซอจิโอ แมตตาเรลลา เพื่อหารือถึงแนวทางในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1767-1.1990 ดอลลาร์สหรับ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (18/5) ที่ระดับ 1.1785/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ทางด้านค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (14/5) ที่ระดับ 109.24/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (11/5) ที่ระดับ 109.38/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยการแข็งค่าของเงินเยนได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์หลังได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง จากการที่อิหร่านได้ยิงจรวดโจมตีดินแดนอิสราเอลจากซีเรียก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ถ่วงค่าเงินดอลลาร์ด้วยเช่นกัน แต่ค่าเงินยังคงถูกกดดันจากการที่นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ออกมาเปิดเผยว่า ตนเองเตรียมจัดการเจรจากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ในช่วงก่อนและหลังการประชุมครั้งแรกระหว่างผู้นำสหรัฐและเกาหลีเหนือที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในเรื่องนโยบายของทั้งสองประเทศที่มีต่อเกาหลีเหนือ สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นกล่าวปราศรัยที่รัฐสภาสหรัฐว่า ตนเองหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 8-9 มิถุนายน ที่ประเทศแคนาดา ประกอบกับการที่รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 1 ลดลง 0.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 9 ไตรมาส เนื่องจากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจต่างก็ปรับลดการใช้จ่ายลง หากเทียบเป็นรายไตรมาส จีดีพีไตรมาส 1 หดตัวลง 0.2% โดยรายงานจากคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของตัวเลขจีดีพีญี่ปุ่นนั้น ปรับตัวลดลง เนื่องจากการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้า เช่น สมาร์ทโฟน และรถยนต์ทั้งนี้ค่าเงินเยนมีความเคลื่อนไหวระหว่างสัปดาห์ในกรอบระหว่าง 109.28-110.85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (18/5) ที่ระดับ 110.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ