เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องตามภูมิภาค ตลาดยังวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.04/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (27/6) ที่ระดับ 32.99/33.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน โดยล่าสุดนายแลรี คุดโลว์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว เปิดเผยว่า การที่คณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทบทวนนโยบายการค้าที่จะนำมาใช้กับจีนนั้น ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐจะเปลี่ยนจุดยืนในการใช้มาตรการคุมเข้มด้านการค้ากับจีนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวเมื่อวานนี้ว่า เขาจะมอบหมายให้คณะกรรมการการลงทุนของต่างประเทศในสหรัฐ (CFIUS) เป็นผู้ดูแลในกรณีที่บริษัทต่างชาติซึ่งรวมถึงจีนนั้น ต้องการจะซื้อกิจการของบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐที่มีความอ่อนไหว โดยการตัดสินใจดังกล่าวของทรัมป์ถูกมองว่าไม่เข้มงวดเหมือนกับที่เคยประกาศก่อนหน้านี้ว่า สหรัฐจะใช้มาตรการสกัดกั้นบริษัทที่มีชาวจีนถือหุ้นมากกว่า 25% เข้าซื้อบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐ แต่ในเวลาต่อมา นายคุดโลว์ได้กล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า แผนการณ์ที่ ปธน.ทรัมป์ได้ประกาศไปนั้น ไม่ได้บ่งชี้ว่าสหรัฐจะอ่อนข้อให้กับจีน พร้อมกับอธิบายว่า ปธน.ทรัมป์ต้องการให้คณะกรรมการ CFIUS เป็นผู้ตัดสินใจว่าเมื่อใดที่บริษัทจีนควรจะถูกระงับการเข้าถือครองบริษัทในสหรัฐ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะปกป้องอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐ นอกจากนี้ นายคุดโลว์ย้ำว่า สหรัฐคาดหวังว่าจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งกับจีน แต่ในขณะเดียวกันสหรัฐก็ยังคงต้องเฝ้าระวัง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ทั้งนี้ การแสดงความเห็นของนายคุดโลว์เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนมองว่า คำกล่าวของนายคุดโลว์ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐจะยังคงเดินหน้าใช้มาตรการการค้าเพื่อกดดันจีนต่อไป

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศนั้นนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน มิ.ย. 61 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ (คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า) อยู่ในเกณฑ์ที่ดีทุกภูมิภาค นำโดยภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเป็นสำคัญ โดยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลาง ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 92.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มที่ดีขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้าของภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการส่งออก อีกทั้งได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากโครงการกองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวทางประชารัฐและกองทุนเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ประกอบกับภาคการลงทุนภายในภูมิภาคที่มีแนวโน้มสดใส หลังจากรัฐบาลเร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางถนนเชื่อมภาคกลางตอนบนกับภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในพื้นที่มีเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.02-33.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.13/33.14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (28/6) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1563/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (27/6) ที่ระดับ 1.1640/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากสถาบันวิจัย GfK เปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีอยู่ที่ระดับ 10.7 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับในเดือน มิ.ย. อย่างไรก็ตาม GfK ระบุว่า ความวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐ และสหภาพยุโรป (EU) ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1528-1.1573 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1557/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (28/6) เปิดตลาดที่ระดับ 110.09/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (27/6) ที่ระดับ 109.87/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามกระแสเงินทุนไหลเข้า ส่งผลให้ราคาในสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ เงินเยนและทองคำปรับตัวลดลง ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 109.98-110.41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 110.24/26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมสหรัฐ (28/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.0/-2.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.5/1.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ