ค่าเงินบาทอ่อนค่า ตามตลาดเกิดใหม่ ดอลลาร์ “แข็งค่าต่อเนื่อง”

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 2-6 กรกฎาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (2/7) ที่ระดับ 32.03/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (29/6) ที่ระดับ 33.12/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ (29/6) จากการแข็งค่าของค่าเงินยูโรหลังการประชุมผู้นำสหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการรับผู้อพยพ โดยนักลงทุนยังคงติดตามประเด็นการค้าและการลงทุนระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งหนังสือพิมพ์ไชน่า ซีเคียวริตี้ เจอร์นัล รายงานว่า ทางการจีนได้ทำการทบทวนข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดการลงทุนจากต่างประเทศ และเตรียมประกาศมาตรการผ่อนคลายข้อจำกัดในการลงทุนในภาคพลังงานและธนาคารในเร็ว ๆ นี้ รายงานระบุว่าข้อจำกัดในด้านพลังงาน ทรัพยากร โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม และกระแสหมุนเวียนด้านการค้า จะถูกยกเลิกหรือผ่อนคลายลง สำหรับข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ได้รับการเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (29/6) ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เผยการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐ เพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในเดือนพฤษภาคม ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 0.4% ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 0.2% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในระดับดังกล่าวติดต่อกัน 6 เดือน อีกทั้งมหาวิทยาลัยมิชิแกนเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ ลดลงเกินคาดสู่ 98.2 จากระดับ 99.3 ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ได้มีการประกาศตัวเลขคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมของสหรัฐ ในเดือนมิถุนายน ปรับตัวสูงขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับตัวเลขในเดือนพฤษภาคม หลังจากที่ลดลง 0.4% ในเดือนเมษายน ในขณะที่รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประจำวันที่  12-13 มิถุนายนระบุว่า เฟดพึงพอใจกับความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ ในปัจจุบัน และเฟดมีความมั่นใจในแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ดี เฟดกังวลกับปัจจัยที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐ ชะลอตัวจากแนวโน้มช่วงขาขึ้น เช่นความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการค้าทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังส่งผลต่อการลงทุนของบริษัทเอกชนหลาย ๆ แห่งอีกด้วย

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท ว่าการอ่อนค่าของค่าเงินบาทในขณะนี้ว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับทางการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในภูมิภาค ที่ได้รับผลกระทบจากประเทศอุตสาหกรรมหลักได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและความกังวลของเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และประเทศคู่ค้าหลัก แต่ทั้งนี้การอ่อนค่าของค่าเงินบาทนั้น ยังไม่น่าเป็นที่น่ากังวลมากนักเนื่องจากฐานะทางด้านต่างประเทศของไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง เพราะมีการพึ่งพาเงินตราต่างประเทศที่ต่ำ อีกทั้งยังมี่ทุนสำรองระหว่างประเทศค่อนข้างสูง โดยทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ที่ 3.5 เท่า และดุลการชำระเงินยังคงเกินดุลอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าในปี 2561 นี้ประเทศไทยจะมีดุลการชำระเงินเกินดุลอีกประมาณ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.01-33.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตัวที่ระดับ 33.17/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1660/61 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาด (29/6) ที่ 1.1642/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้รับปัจจัยหนุนจากการประชุมสหภาพยุโรปสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับนโยบายผู้อพยพ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สร้างความกังวลว่าจะก่อให้เกิดความแตกแยกในประเทศกลุ่มยุโรปและอาจส่งผลกระทบต่อเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลเยอรมนี โดยบรรดาผู้นำสหภาพยุโรปเห็นควรในการจัดตั้งประเทศศูนย์กลางการรับผู้อพยพขึ้นใหม่ และแยกผู้อพยพออกเป็นสองกลุ่ม นอกจากนี้สำนักงานสถิติสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เผยอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนแตะระดับ 2% เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปีในเดือนมิถุนายน เนื่องจากต้นทุนพลังงานและอาหารพุ่งขึ้นอย่างมาก โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตั้งเป้าที่จะทำให้เงินเฟ้อต่ำกว่าแต่ใกล้เคียง 2% ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินยูโรผันผวนเป็นอย่างมากโดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงในคืนวันจันทร์ (2/7) หลังจากที่นายฮอร์สท์ ซีโฮเฟอร์ รมว.
กิจการภายในของเยอรมนีเสนอที่จะลาออกจากตำแหน่ง ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ด้านการเมือง แต่ในภายหลังพรรคคริสเตียน โซเชียล ยูเนียน (CSU) ของนายซีโฮเฟอร์ บรรลุข้อตกลงกับพรรคคริสเตียน เดโมแครตส์ (CDU) ของนายเมอร์เคล ในเรื่องผู้อพยพผิดกฎหมาย ทำให้นายซีโฮเฟอร์ตัดสินใจถอนข้อเสนอลาออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป นายปีเตอร์แพรท ได้กล่าวว่าความเสี่ยงด้านการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้นในระยะถัดไป ส่วนตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาในช่วงท้ายสัปดาห์ก็มี ไอเอชเอส มาร์กิต ได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซนประจำเดือนมิถุนายน ออกมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน และสูงกว่าตัวเลข PMI เบื้องต้นที่ระดับ 55.0 รวมทั้งสูงกว่าตัวเลขในเดือนพฤษภาคม ที่อยู่ที่ระดับ 53.8 อีกทั้งผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของเยอรมนีในเดือนมิถุนายน  ก็ออกมาปรับตัวอยู่ที่ระดับ 54.5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน และสูงกว่าตัวเลขในเดือนพฤษภาคมที่อยู่ระดับ 53.9 นอกจากนี้ในช่วงวันพฤหัสบดี (5/7) ค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนหลังจากที่นายกรัฐมนตรีแองเจลา เมอร์เคล ของเยอรมนี กล่าวว่า เธอจะสนับสนุนให้สหภาพยุโรป (อียู) ปรับลดภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บจากรถยนต์สหรัฐ โดยถือเป็นการตอบรับต่อข้อเสนอของรัฐบาลสหรัฐ ในการยกเลิกแผนการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ยุโรปเพื่อแลกกับการประนีประนอม นอกจากนี้ในช่วงวันพฤหัสบดี (5/7) ค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนหลังจากที่ นายกรัฐมนตรีแอจเจลา เมอร์เคล ของเยอรมนีกล่าวว่า เธอจะสนับสนุนให้สหภาพยุโรป (อียู) ปรับลดภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บจากรถยนต์สหรัฐ โดยถือเป็นการตอบรับต่อข้อเสนอของรัฐบาลสหรัฐ ในการยกเลิกแผนการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ยุโรปเพื่อแลกกับการประนีประนอม โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1591-1.1727 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1713/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนสัปดาห์นี้ ค่าเงินเยนเปิดตลาดที่ระดับ 110.00/01 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (26/6) ที่ระดับ 110.58/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยน
อ่อนค่าหลังจากนักลงทุนคลายความตึงเครียดเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ นอกจากนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของบริษัทผู้ผลิตใหญ่ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก +24 ในเดือนมีนาคมสู่ระดับ +21 ในเดือนมิถุนายน โดยในสัปดาห์นี้ทางการญี่ปุ่นยังไม่ได้มีการประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจออกมามากนัก โดยนักลงทุนยังคงติดตามผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ก่อนหน้าที่มาตรการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอัตรา 25% ของสหรัฐ และจีน โดยจะมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.28-111.14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.61/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ