เปิดประตู (การเงิน) บานแรก บัญชีเงินฝากพื้นฐาน เพื่อ “คนจน-สูงวัย”

“ภาคการเงินการธนาคาร มีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมในวงกว้าง เพราะภาคการเงินการธนาคาร ทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ คือ “ทรัพยากรทางการเงิน” หรือ “ทุน” แม้ว่าที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีในหลายเรื่อง แต่ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่เราสามารถช่วยกันทำ และต้องทำให้มากขึ้นด้วย เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อให้สังคมไทยพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว เพื่อลดปัญหาการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เหมาะสม ลดพฤติกรรมฉ้อฉล คอร์รัปชั่น และร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม”

ข้างต้นนี้คือ คำกล่าวของ “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บทเวทีงาน “Bangkok Sustainable Banking Forum 2018” ซึ่ง ธปท.จัดเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ภาคสถาบันการเงินดำเนินธุรกิจ “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน (sustainable banking)”

ทั้งนี้ ในเวทีดังกล่าวได้มีการเปิดตัว 2 โครงการสำคัญ ได้แก่ 1) การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การให้บริการบัญชีเงินฝากเพื่อการเข้าถึงบริการทางการเงินขั้นพื้นฐาน” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “บัญชีเงินฝากพื้นฐาน” ระหว่าง 14 ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นสมาชิกของสมาคมธนาคารไทย รวมถึงธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ 2) โครงการระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Donation ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงิน, บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์, กรมสรรพากร และ ธปท.

สำหรับที่มาที่ไปของการทำโครงการบัญชีเงินฝากพื้นฐาน “วิรไท” เล่าว่า เนื่องจาก ธปท.ได้ทำผลสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินของภาคครัวเรือนพบว่า มีครัวเรือนบางส่วนตัดสินใจไม่ฝากเงิน เพราะมีปัญหาฐานะทางการเงิน และรายได้ของครัวเรือนที่ไม่เพียงพอ

แต่ที่สำคัญ ยังมีอุปสรรคในเรื่องการเปิดบัญชีเงินฝาก จากการถูกคิดค่าธรรมเนียมหลายรายการ อาทิ ค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี ค่าใช้จ่ายในการเปิดบัญชีที่สูงเกินไปสำหรับครัวเรือนจำนวนมาก เป็นต้น ดังนั้น ธปท. และสมาคมธนาคารไทย จึงได้ร่วมกันออกแบบบัญชีเงินฝากพื้นฐานนี้ขึ้นมา

“ธปท.ตระหนักว่า การเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนระดับฐานราก เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกัน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ประชาชนควรจะได้รับ โดยผลการสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินของภาคครัวเรือนพบว่า มีครัวเรือนที่ใช้บริการทางการเงินลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีครัวเรือนถึงประมาณ 30% ตัดสินใจไม่ใช้บริการเงินฝาก ถึงแม้จะเข้าถึงบริการเงินฝากได้”

ผู้ว่าการ ธปท.ย้ำว่า บัญชีเงินฝากพื้นฐานจะสนับสนุนให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง โดยจะเริ่มจากผู้มีรายได้น้อยในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปที่จะสามารถเปิดบัญชีเงินฝากที่เน้นการใช้งานในชีวิตประจำวัน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเปิดบัญชี และไม่มีค่ารักษาบัญชี หากบัญชีไม่เคลื่อนไหวในช่วง 24 เดือน (2 ปี) รวมถึงไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า และค่าธรรมเนียมรายปีของการใช้บริการบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตที่ผูกกับบัญชีนี้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตและมือถือได้อีกด้วย โดยได้รับอัตราดอกเบี้ยเท่ากับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป

“การส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมีบัญชีเงินฝาก เป็นประตูบานแรกของการเข้าสู่บริการทางการเงินในระบบ ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปสู่การใช้บริการชำระเงิน การสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเงิน การเข้าถึงสินเชื่อ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ได้ นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ ธปท.ผลักดันให้การมีบัญชีเงินฝากเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน มีความสำคัญใกล้เคียงกับการได้รับสิทธิในการศึกษา สิทธิในการรักษาพยาบาล” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

ขณะที่ “ปรีดี ดาวฉาย” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า โครงการนี้กำหนดเป้าหมายที่จะเริ่มให้บริการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐานแก่ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในเดือน ต.ค. 2561 นี้

ฟาก “ชาติศิริ โสภณพนิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากพื้นฐานขึ้นมา ก็เพื่อให้เป็นช่องทางในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งการฝากเงิน การโอนเงิน และชำระเงิน โดยให้มีต้นทุนในการใช้บริการต่าง ๆ ให้น้อยที่สุด และเป็นช่องทางในการรับสวัสดิการจากภาครัฐโดยไม่มีค่าใช้จ่าย จึงนับเป็นก้าวสำคัญสำหรับภาคการธนาคารของไทย ในการส่งเสริมการกระจายรายได้ และสอดคล้องกับแนวคิด sustainable banking ของ ธปท.

ส่วน “ผยง ศรีวาณิช” กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย บอกว่า สิ่งที่แบงก์ได้จากโครงการนี้ คือ มีส่วนร่วมในการให้โอกาสประชากรทุกภาคส่วน แม้ว่าจะต้องมีการจ่ายดอกเบี้ยให้เช่นเดียวกับบัญชีออมทรัพย์ปกติก็ไม่เป็นปัญหา ซึ่งแบงก์กรุงไทยทำเรื่องนี้มานานแล้ว ขณะที่ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการดึงธนาคารอื่น ๆ มามีส่วนร่วมด้วย จะได้ไม่มองว่าธนาคารกรุงไทยผูกขาดอยู่แห่งเดียว

“การจ่ายดอกเบี้ยเป็นต้นทุน แต่เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน อย่างโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 11 ล้านคน ก็เปิดบัญชีผู้สูงอายุเกิน 65 ปี ซึ่งเพิ่งเซ็นความร่วมมือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แต่จำนวนบัญชีส่วนเพิ่มในโครงการนี้ของเรา อาจไม่ค่อยมีแล้ว เพราะได้ทำไปเกือบหมดแล้ว” นายผยงกล่าว

นี่เป็นก้าวแรก ซึ่ง ธปท.ยืนยันว่า อาจจะขยายไปกลุ่มอื่นที่เป็น “กลุ่มที่มีความอ่อนไหว” หรือไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ด้วย