ค่าเงินบาทแข็งค่า หลังภาวะสงครามการค้าเริ่มคลี่คลาย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.16/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (25/7) ที่ระดับ 33.26/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้ปรับตัวอ่อนค่าลงหลังจากที่เสร็จสิ้นการประชุมระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งผลจากการประชุมสหรัฐและสหภาพยุโรป (EC) ได้มีการตกลงที่จะยุติการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่รวมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ พร้อมทั้งได้เริ่มเจรจาต่อรองปรับลดมาตรการกีดกันทางการค้าของสินค้าประเภทอื่นเพิ่มเติม โดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้กล่าวหลังจากการประชุมว่า สหภาพยุโรปได้มีการตกลงที่จะปรับเพิ่มปริมาณนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และถั่วเหลืองจากสหรัฐมากขึ้นจากเดิม และจะมีการปรับลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ใช้กับถั่วเหลืองที่นำเข้าจากสหรัฐ โดยข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่แสดงความเชื่อมั่นว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐ และสหภาพยุโรปนั้น จะเป็นในลักษณะที่ได้รับประโยชน์ร่วมกันและสามารถลดความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสองฝ่ายได้ ทั้งนี้ในคืนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้มีการเปิดเผยตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ ประจำเดือนมิถุนายน ปรับตัวลดลง 5.3% สู่ระดับ 631,000 ยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน หลังจากที่เพิ่มขึ้นสูง 6.7% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.14-33.34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (26/7) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1734/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (26/7) ที่ระดับ 1.1697/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์และนายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้มีการตกลงจะยุติการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่รวมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ พร้อมทั้งได้มีการเจรจาต่อรองเพื่อปรับลดมาตรการกีดกันทางการค้าอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตารอดูผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ณ เวลาประมาณ 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ว่า ECB จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ดังเดิม ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1703-1.1743 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1705/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (26/7) เปิดตลาดที่ระดับ 110.85/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (25/7) ที่ระดับ 111.08/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนยังคงจับตารอดูการประชุมธนาคารญี่ปุ่นที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30-31 มิถุนายนนี้ หลังจากมีรายงานว่า BOJ อาจจะมีการปรับลดปริมาณผ่อนคลายนโยบายทางการเงินลง และอาจปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับระยะเวลา 3 ปี จนถึงปีงบประมาณ 2563 เนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่นในขณะนี้ยังอยู่ในระดับต่ำอย่างมาก โดยคาดว่า BOJ จะมีปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับปีงบประมาณ 2561 ลงมาอยู่ที่ระดับ 1% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน ที่ระดับ 1.3% ขณะเดียวกัน ก็จะปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับปีงบประมาณ 2562 ลงสู่ระดับ 1.5% จากระดับ 1.8% และจะปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับปีงบประมาณ 2563 ลง โดยคาดว่าจะขยายตัวเพียง 1.8% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 110.58-110.03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 110.77/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมิถุนายนของสหรัฐ (26/7), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (26/7), การประชุมนโยบายทางการเงิน ECB (26/7), ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2018 สหรัฐ (27/7) และผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกรกฎาคม โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (27/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.7/-2.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.2/-3.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ