แบงก์แห่ปรับสาขาแข่งเป็นที่ปรึกษาลูกค้า

แบงก์ไทยพาณิชย์แชมป์ปิดสาขามากสุดปีนี้ ผู้บริหาร SCB ปูพรมเปิด SCB Express ครึ่งปีหลังอีก 30-40 แห่งแทนสาขา มั่นใจบริการลูกค้าได้เต็มที่เหมือนสาขาเดิม ส่วนศูนย์ให้คำปรึกษาครบวงจรเอสเอ็มอีเปิดแล้ว 6 แห่งพร้อมบริการ ค่ายทีเอ็มบี เผยลูกค้าทำธุรกรรมผ่านสาขาแบงก์ลดลง หันใช้แอปแทน เพิ่งตื่นเปิดแผนปรับโฉมสาขาเน้นให้คำปรึกษาลูกค้าในอนาคต ฟากกสิกรไทยตั้งหลักใหม่รุกเปิดสาขาเพิ่ม 6 แห่งปีนี้ พร้อมชู Banking Agent รุกตรงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ล่าสุดผนึกไปรษณีย์ฯเจาะลูกค้าขายของออนไลน์

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ทั้งระบบล่าสุด (ณ ก.ค. 61) พบว่า แบงก์มีการปิดสาขาทั้งสิ้น 42 สาขา ทำให้สาขาปัจจุบันอยู่ที่ 6,742 สาขา ลดลง 42 สาขา จากสิ้นปีก่อนที่มีจำนวน 6,784 สาขา ซึ่งธนาคารที่ปิดสาขามากที่สุด คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ปิด 90 สาขา ทำให้เหลือสาขา 1,071 สาขา ทางด้านของธนาคารทหารไทยปิดลง 5 สาขา เหลืออยู่ที่ 427 สาขา ในขณะที่ธนาคารกสิกรไทยเพิ่มขึ้น 6 สาขา จาก 1,029 สาขา ทำให้สาขาเพิ่มเป็น 1,035 สาขา

นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการปรับสาขาของธนาคาร ว่า ภายในสิ้นปีนี้ธนาคารจะลดสาขาแบบเดิม (traditional) ให้เหลือจำนวน 1,020 สาขา จากปัจจุบันมีสาขาอยู่ที่ 1,050 สาขา (ณ ส.ค. 61) ซึ่งเป็นการทยอยปรับลดสาขาตามแผนระยะ 3 ปีนี้ แต่จะมาให้ความสำคัญในการเปิดรูปแบบ SCB Express แทนสาขาแบบเดิม เพราะสามารถรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินสาขาได้ถึง 80% ของการทำธุรกรรมผ่านสาขาทั้งหมด โดยขณะนี้มี SCB Express เปิดให้บริการแล้ว 20 สาขา และภายในสิ้นปีนี้จะเปิดเพิ่มเป็น 50-60 สาขา ซึ่งถือเป็นการปรับตัวของธนาคารในการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ

ส่วนการเปิด SCB BUSINESS CENTER ซึ่งเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาครบวงจรสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี (SME) ปัจจุบันมี 6 สาขา โดยสอดคล้องกับเป้าหมายของธนาคาร ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงผู้รับฝากและปล่อยกู้เท่านั้น แต่จะสามารถให้คำปรึกษาการดำเนินธุรกิจให้ลูกค้าได้ด้วย

“เนื่องจากการแข่งขันไม่ได้มีเพียงแบงก์ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจรายใหญ่ด้านเทคโนโลยีจำนวนมากที่มีต้นทุนถูก เพราะไม่มีสาขาเหมือนแบงก์ได้เข้ามาแข่งขันให้บริการทางการเงินด้วย ดังนั้น ธนาคารจึงต้องหาวิธีรับมือด้านต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายธนากล่าว

นางสาวมิ่งขวัญ พัฒนวงศ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารส่งเสริมการตลาดลูกค้าบุคคล ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า ปีนี้เห็นทิศทางการทำธุรกรรม เช่น ฝาก-ถอน-โอน-จ่าย ผ่านสาขาค่อนข้างลดลงอย่างช้า ๆ ซึ่งก็เป็นไปตามกลยุทธ์ของธนาคารที่ต้องการให้การทำธุรกรรมผ่านสาขาลดน้อยลง และสามารถทำผ่านเทคโนโลยีได้มากขึ้น ดังนั้น จะเห็นว่าที่ผ่านมาธนาคารก็ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นการทำธุรกรรมทางการเงินบนโทรศัพท์มือถือหรือโมบายแบงกิ้งให้ง่ายและสะดวกแก่ลูกค้า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธนาคารมีสาขาอยู่ที่ 427 สาขา ซึ่งลดลงจากสิ้นปีก่อนเพียง 5 สาขาเท่านั้น โดยมีแผนในอนาคตที่จะปรับรูปแบบสาขาเน้นให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าเป็นหลัก

“เนื่องจากมองว่าในอนาคตการทำธุรกรรมของลูกค้าไม่ใช่แค่การทำธุรกรรมปกติ ธนาคารต้องทำอย่างไรให้เป็นเพื่อน หรือ partner กับลูกค้าในการวางแผนทางการเงิน เช่น การเงินหลังเกษียณ หรือการลงทุนต่าง ๆ ได้” นางสาวมิ่งขวัญกล่าว

แหล่งข่าวจากธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้ทยอยปิด/เปิดสาขาเพื่อตอบสนองการใช้บริการของลูกค้าได้ตรงจุดและทั่วถึงมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันธนาคารมีสาขา 1,035 สาขา (ณ ก.ค. 61) เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนประมาณ 6 สาขา โดยรูปแบบสาขาปัจจุบันจะเน้นการให้บริการที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มลูกค้าเป็นสำคัญ อาทิ กรณีที่ธนาคารได้แต่งตั้งให้ไปรษณีย์ไทยเข้ามาเป็นตัวแทนให้บริการทางการเงิน (Banking Agent) เจาะตรงกลุ่มลูกค้าที่ขายของออนไลน์ สามารถใช้บริการส่งของและทำธุรกรรมการเงินได้พร้อมกัน และกลุ่มลูกค้าที่ไม่คุ้นเคยการโอนเงินผ่านดิจิทัลก็สามารถมาใช้บริการที่ไปรษณีย์ฯนี้ได้ ซึ่งเสมือนเป็นสาขารูปแบบใหม่ของธนาคาร โดยทำธุรกรรมฝาก-ถอน-โอน-จ่ายบิล และในอนาคตจะมีการเปิดบัญชีได้ด้วย

“ในอนาคตสาขาจะเปลี่ยนไปทางรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น โดยการนำเครื่องมือด้านอิเล็กทรอนิกส์มาช่วยมากขึ้น และลดปริมาณการทำธุรกรรมผ่านสาขาลง เพื่อให้พนักงานสาขามุ่งเน้นการให้บริการการทำธุรกรรมปกติน้อยลง และหันมาให้บริการรูปแบบอื่นมากขึ้น เช่น ให้คำแนะนำด้านการเงินและการลงทุน เป็นต้น” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์มีการปิดสาขาเพิ่มมากขึ้น และที่เห็นได้ชัด คือ ประชาชนหันมาใช้บริการพร้อมเพย์มากขึ้น และถอนเงินสดจากตู้ ATM ลดลง ซึ่งเป็นไปตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งใจจะให้ใช้บริการผ่านอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น