แบงก์ภาระอื้อ-พลังงานตัวถ่วง บจ.ลุ้นไตรมาส3กำไร2แสนล้าน

ส่องกำไร บจ.ไตรมาส 3 โกยไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ชี้กลุ่มแบงก์-พลังงานสะดุดภาระเยอะ ลุ้นไตรมาส 4 ดัชนีพลิกขึ้นราว 50 จุดมั่นใจทั้งปีกำไร บจ.โตนำ 10% กวาดตุงกระเป๋า 1.1 ล้านล้านบาท ชี้หลังสหรัฐจบเลือกตั้งกลางเทอม ต่างชาติกลับเข้าไทย สศค.ชี้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งเป็นภูมิคุ้มกันความผันผวนภายนอก

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มผลประกอบการกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทั้งตลาด ในไตรมาส 3 ปี 2561 นี้ไม่น่าจะต่ำกว่าระดับ 2 แสนล้านบาท เติบโตกว่า 10% เทียบกับไตรมาส 3 ปีที่แล้ว ที่มีกำไรรวมอยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท แต่ก็มีแนวโน้มทรงตัวหรือต่ำกว่าหากเทียบกับไตรมาส 2/61 ที่ผ่านมา

“แบงก์-พลังงาน” ถ่วง

ทั้งนี้เป็นผลมาจากกำไรกลุ่มน้ำมันและปิโตรเคมีคาดจะออกมาอ่อนตัวลง และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ที่คาดว่ากำไรช่วงไตรมาส 3 จะลดลงราว 3.5% จากไตรมาส 2/61 เพราะไตรมาสที่แล้วบางแบงก์มีการขายเงินลงทุนออกมาเป็นกำไร จึงทำให้มีกำไรพิเศษ ขณะที่บางรายก็ยังทยอยตั้งสำรองหนี้ตามมาตรฐานบัญชี IFRS9 นอกจากนี้ยังมีประเด็นหลักที่กดดันทั้งจากรายได้ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ที่ลดลง และเงินลงทุนเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีที่ยังต้องทำต่อเนื่อง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงต่อเนื่องในระยะ 2-3 ปีนี้ ขณะที่ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.1% เท่าเดิม

“กำไรรวมของหุ้นกลุ่มพลังงานและแบงก์ปกติ 2 กลุ่มใหญ่นี้จะมีสัดส่วนสูงราว 52% ของกำไรรวมทั้งตลาด ประเมินคร่าว ๆ กลุ่มแบงก์ (9 แบงก์ไม่นับรวม CIMBT-BAY) ไตรมาส 3/61 คาดจะทำกำไรรวมราว 4.5 พันล้านบาท ภาพรวมไตรมาส 3 นี้จะเห็นกลุ่มแบงก์มีความแตกต่างและหลากหลายกว่าไตรมาสก่อน เพราะเกณฑ์มาตรฐาน IFRS9 ก็ทำให้บางแบงก์ตั้งสำรองหนี้ฯจำนวนที่ไม่เท่ากัน จากสองตัวนี้ก็ทำให้ผลกำไรของแบงก์ไม่ปกติ หรืออย่างแบงก์กรุงเทพ ไตรมาส 3 นี้จะเห็นกำไรโตกระโดดราว 15% จาก YoY เพราะจะมีรับรู้รายได้จากขายประกันของ AIA มากขึ้น” นายมงคลกล่าว

Advertisment

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการ บจ.งวดไตรมาส 4 นี้ นายมงคลวิเคราะห์ว่า จะดีขึ้นกว่าไตรมาส 3/61 ซึ่งเมื่อรวมกับไตรมาส 3 แล้ว จะทำให้ครึ่งปีหลังของปีนี้กำไรโดยรวมเติบโตได้ราว 11% สูงกว่าครึ่งปีแรกที่โต 8% เพราะเศรษฐกิจโดยรวมยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาพรวมกำไร บจ.ทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 1.07 ล้านล้านบาท เติบโต 9.2% จากปีที่แล้ว

“ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาได้รับรู้ปัจจัยแนวโน้มผลประกอบการของ บจ.งวดไตรมาส 3/61 ที่จะทยอยออกมาเร็ว ๆ นี้ไประดับหนึ่งแล้ว ส่วนข่าวบวกเรื่องกฏหมายการเลือกตั้งและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจากนี้ยังสะท้อนผ่านตลาดหุ้นไทยไม่หมด จึงคาดว่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีสัญญาณที่ดีในระยะข้างหน้า โดยให้เป้าหมายดัชนีฯสิ้นปีนี้แตะ 1,845 จุด” นายมงคลกล่าว

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามมี 2 ปัจจัยหลัก ๆ ของต่างประเทศ คือสงครามการค้าและการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐที่เพิ่งขึ้นเมื่อรอบเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาและปลายปีอีกครั้ง ซึ่ง 2 ปัจจัยเสี่ยงนี้จะเป็นตัวกำหนดฟันด์โฟลว์ (เงินลงทุนต่างชาติ) ว่าจะขายหุ้นไทยต่อหรือไม่ เพราะในช่วงราว 2 ปี (ต.ค. 2559-ปัจจุบัน) ต่างชาติขายหุ้นไทยออกไปแล้ว 2.9 แสนล้านบาท ขณะนี้แรงขายหุ้นก็เบาลง แต่ประเด็นอยู่ที่จะมีเงินต่างชาติก้อนใหม่เข้ามาหรือไม่ในระยะข้างหน้า หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยปลายปี

“น่าจะเห็นต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยช่วงหลังสหรัฐจบการเลือกตั้งกลางเทอม คือช่วงกลาง พ.ย.เป็นต้นไป ส่วนสถาบันในประเทศก็ยังคงซื้อต่อเนื่องจากฝั่งกองทุน LTF” นายมงคลกล่าว

Advertisment

คาดเงินต่างชาติไหลเข้า

นายพรเทพ ชูพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) ประเมินว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยไตรมาส 4/61 น่าจะปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่องอีกราว 50-80 จุด จากปัจจุบันที่อยู่บริเวณ 1,780-1,800 จุด โดยพิจารณาจากสถิติไตรมาส 4 ของทุกปีในช่วง 10 ปีย้อนหลัง พบว่าช่วง 7-8 ปี จะเห็นตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไตรมาส 4 เฉลี่ยราว 3-5%

ขณะที่คาดการณ์กำไร บจ.ครึ่งปีหลังจะโตราว 15-20% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน และอยู่ระดับทรงตัวเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม ปีนี้ทั้งปีกำไร บจ.ยังเติบโตได้ 8-10% จากปี 2560 หรือคาดอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท โดยคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (forward P/E) อยู่ที่ 118 บาท/หุ้น

นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) IRPC เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 3 ของปีนี้คาดว่าจะอ่อนตัวลง ซึ่งมาจากค่าการกลั่นที่อ่อนตัวลงตามฤดูกาล แต่ยังมีกำไรจากสต๊อกน้ำมันซึ่งได้รับผลดีจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวเฉลี่ยที่ราว 76-78 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 72 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทยังคงเป้าหมายกำไรก่อนหักภาษี (EBITDA) เติบโตปีละ 10-15% จนถึงปี”63 อยู่ที่ 29,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 20,000 ล้านบาท

นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวว่า ประเทศไทยโชคดีที่ในขณะนี้ที่เศรษฐกิจหลายประเทศมีปัญหา แต่เศรษฐกิจไทยกลับมาแข็งแกร่ง โดยเฉพาะสัญญาณการจับจ่าย การบริโภคที่กลับมาขยายตัว รวมถึงรายได้เกษตรกรและการลงทุน จึงเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่เศรษฐกิจไทย ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ประเด็นสำคัญไม่ได้พิจารณาที่อัตราดอกเบี้ย แต่นักลงทุนจะดูที่เศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ มีความมั่นคงแค่ไหน โดยหากสังเกตตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาจะเห็นว่ามีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทยและเข้าซื้อพันธบัตรไทยแทน

ส.ค.ส่งออกเติบโตลดลง

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีเกือบทุกหมวดการใช้จ่ายขณะที่มูลค่าการส่งออกขยายตัว 5.8% ชะลอลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 8.3%

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในเดือน ก.ย.ส่งออกจะขยายตัวสูงขึ้นถึง 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากเดือน ส.ค.มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 22,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลของฤดูกาลส่งออกเช่นทุกปี โดยหลายหมวดสินค้ายังขยายตัวได้ดี แต่ในหมวดประมง ได้แก่ กุ้ง รวมทั้งโซลาร์เซลล์และเครื่องซักผ้า หดตัวลงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ

นายดอนกล่าวเพิ่มเติมว่า ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์ เนื่องจากนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศทั้งลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (TDI) การลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) และการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ก็เริ่มเห็นกระแสเงินไหลเข้าของนักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนในตราสารหนี้ราว 3.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสิ้นเดือนก่อน โดยส่วนหนึ่งมาจากกระแสเงินไหลเข้ามาในประเทศ