รวมถังข้อมูลประกันปั้นบิ๊กดาต้า สมาคมควบ “TID-IPRB” ตั้งสถาบันวิจัย

ส.ประกันวินาศภัยไทยเดินหน้ารวมฐานเก็บข้อมูล 2 แห่ง “TID-IPRB” ปั้นเป็นสถาบันพัฒนาและวิจัยการประกันภัย รวมฐานข้อมูลลูกค้าทุกประเภท หนุนสร้างบิ๊กดาต้า ป้อน “AI” วิเคราะห์ สกัดฉ้อฉล-ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย บอร์ดสมาคมเคาะบริษัทประกันส่งข้อมูลกรมธรรม์ใหม่ตั้งแต่ 1 ก.ย. 61 ด้าน IPRB เผยไตรมาส 2/62 ออกรายงานข้อมูล-ระบบสืบค้นกรมธรรม์ทุกประเภทได้ หวังยกระดับระบบฐานข้อมูลกลางด้านประกันภัย (IBS)

แหล่งข่าวสมาคมประกันวินาศภัยไทยเปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมอยู่ระหว่างการพิจารณาควบรวมบริษัท ไทยอินชัวเรอส์ดาต้าแนท จำกัด (TID) ซึ่งทำหน้าที่เก็บข้อมูลกลางของธุรกิจประกันวินาศภัยประเภทรถยนต์ กับสำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย (IPRB) ที่เป็นศูนย์ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับการประกันวินาศภัยทุกประเภท เพื่อยกระดับระบบฐานข้อมูลกลางด้านประกันภัย (insurance bureau system : IBS) ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลกรมธรรม์ครบทุกประเภท และยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายไปได้ค่อนข้างมาก

ดร.จุฑาทอง จารุมิลินท

ทั้งนี้ บริษัท ไทยอินชัวเรอส์ดาต้าแนท จำกัด และสำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย อยู่ภายใต้สังกัดสมาคมประกันวินาศภัยไทย

“เรากำลังศึกษาข้อดีและข้อเสียระหว่างการควบรวมว่าจะอยู่ภายใต้บริษัทจำกัด หรือสังกัดหน่วยงานภายใต้สมาคม เพราะว่าหากเราจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด ก็ต้องดูว่าสมาชิกจะจ่ายค่าบริการอย่างไร ส่วนถ้าเป็นหน่วยงานภายใต้สมาคมก็อาจจะไม่อิสระและถูกครอบงำได้ แต่อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2562 ทั้งสองส่วนต้องควบรวมกัน เพราะถือเป็นนโยบายของคณะกรรมการบริหารสมาคม ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีกฎหมายบังคับเหมือนในญี่ปุ่นก็ตาม” แหล่งข่าวสมาคมกล่าว

ดร.จุฑาทอง จารุมิลินท เลขาธิการสำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเฟสแรกช่วงปี”62 ทั้ง IPRB และ TID จะย้ายออฟฟิศไปอยู่รวมกันที่อาคารสมาคมประกันวินาศภัยไทยแห่งใหม่ บนถนนสุขุมวิท ซอย 64/1-64/2 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทำการก่อสร้างและคาดจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ. 62 โดยระหว่างนี้จะร่วมกันศึกษาโมเดลหารูปแบบการจัดตั้งที่เหมาะสมที่สุด และจะดำเนินการภายใต้ชื่อ “สถาบันพัฒนาและวิจัยการประกันภัย” (Thai Insurance Research and Development : TIRD) ซึ่งคาดว่าตั้งแต่ไตรมาส 2/62 จะเริ่มออกรายงานข้อมูลและระบบสืบค้นกรมธรรม์ทุกประเภทได้ ซึ่งขณะนี้เริ่มได้รับข้อมูลจากบริษัทประกันวินาศภัยเข้ามาแล้ว

Advertisment

ด้านแหล่งข่าวสมาคมกล่าวอีกว่า ภายหลังมติบอร์ดสมาคมเมื่อเดือน ส.ค. 61 ที่ผ่านมา ได้มีความเห็นชอบให้บริษัทสมาชิกทั้งหมดส่งข้อมูลกรมธรรม์ทุกประเภทให้กับสมาคมโดยตรง หลังจากที่ คปภ.ไม่ได้นำส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับสมาคม เพราะทางฝ่ายกฎหมาย คปภ. ค่อนข้างกังวลข้อมูลรั่วไหล และอาจเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้ทางสมาคมต้องทำงานแบบ self-regulate (กำกับดูแลตัวเอง) ในการเก็บข้อมูลแยกถังเอาไว้ เพื่อสมาคมจะสามารถนำไปหารือกับ คปภ.ในการปรับเพิ่ม/ลดเบี้ยประกันให้เกิดความยุติธรรมได้

โดยสมาคมได้ชี้แจงให้กับทุกบริษัทประกันให้ดำเนินการจัดส่งข้อมูลกรมธรรม์ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 61 เป็นต้นไป และปัจจุบันก็ได้รับข้อมูลประกันรถยนต์ (motor) เข้ามาแล้วสัดส่วน 60% ในขณะที่ข้อมูลประกันที่ไม่ใช่รถ (non- motor) เข้ามาสูงเกือบ 80% ซึ่งส่วนใหญ่เกือบทุกบริษัทประกันส่งเข้ามาแล้ว ยังมีบางบริษัทประกันที่ยังไม่ส่งข้อมูลเข้ามา ขณะนี้สมาคมอยู่ระหว่างขอความร่วมมือให้นำส่งข้อมูลดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลสถิติโดยทั่วไปหากเกินระดับ 50% ถือว่าสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์หรือวิจัยได้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะการป้องกันการฉ้อฉล (fraud claims) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นผู้เอาประกันภัย/ผู้รับประกัน/หน่วยงานภาครัฐ ดังนั้นสมาคมต้องเก็บข้อมูลเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูล big data อย่างน้อยประมาณ 2 ปีขึ้นไป ถึงจะเป็นข้อมูลที่เพียงพอในการตรวจสอบพฤติกรรมผู้บริโภคได้ และจะดึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยวิเคราะห์แทนคนเช่นเดียวกับสิงคโปร์เพื่อช่วยป้องกันการฉ้อฉลได้

“ประกอบกับข้อมูลส่วนนี้ยังเป็นระบบฐานข้อมูลกลางที่สามารถให้บริษัททั้งในและต่างประเทศเข้ามาขอข้อมูลสถิติได้ เพียงแต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อมูลสถิติที่จะนำไปใช้ได้” แหล่งข่าวกล่าว

Advertisment

นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.วิริยะประกันภัย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางสมาคมได้เข้ามาหารือกับบอร์ดบริหารของบริษัทเพื่อขอความร่วมมือให้นำส่งข้อมูลกรมธรรม์ทุกประเภท ขณะที่บริษัทได้เคยส่งให้ คปภ.แล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พนักงานของบริษัทกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดส่งสมาคม ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะช่วยขับเคลื่อนระบบ IBS ให้สามารถดูแลข้อมูลประวัติลูกค้าแต่ละบริษัท และแชร์ข้อมูลซึ่งกันและกันได้