หนี้เสีย SME ไปต่อ ธปท.ส่งมาตรการแก้บาทแข็ง

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยขณะนี้ ยังไม่สดใสนัก เพราะแม้ว่าการส่งออกจะดูดีขึ้น แต่ก็ยังมีหลายปัจจัยภายในประเทศที่ยังอึมครึม

ถือเป็นช่วงเวลาที่ยังยากลำบากของผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ไม่ค่อยปรับตัวหรือปรับตัวไม่ทัน ยิ่งส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง สะท้อนผ่านแนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของกลุ่มเอสเอ็มอีที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีความกังวลและติดตามใกล้ชิดต่อปัญหาหนี้เสียเอสเอ็มอีที่ยังไม่หยุดไหล และสัญญาณยังพุ่งขึ้นสูงสุดในปีนี้อีกปี

โดยสถานการณ์รายแบงก์ก็สอดคล้องกับภาพรวม “สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์” รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า NPL กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีของธนาคารช่วงครึ่งปีแรก เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.3% จาก ณ สิ้นปี 2559 ที่อยู่ที่ 4.8% โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ NPL เอสเอ็มอีรายเล็ก (รายได้ต่ำกว่า 50 ล้านบาท) น่าจะขึ้นไปสู่จุดสูงสุด แล้วก็น่าจะปรับลดลงได้ เพราะเริ่มเห็นสัญญาณ “ผิดนัดชำระหนี้ลดลง” ใน 1-2 เดือนที่ผ่านมา

ขณะที่ NPL ของเอสเอ็มอีรายกลางและรายใหญ่ (รายได้ 50-400 ล้านบาทต่อปี) เริ่มเห็นสัญญาณลดลงมาก่อนแล้ว เพราะได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว รวมถึงภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีหลังที่น่าจะดีขึ้น ก็จะทำให้ NPL เอสเอ็มอีที่กระจายตัวในหลายอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นตามด้วย

“ลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารที่เป็น NPL ยังสามารถเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ได้ โดยธนาคารยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เป็นรายกรณี ทั้งการพักชำระเงินต้น ลดดอกเบี้ย หรือหากลูกค้าต้องการใช้หลักทรัพย์ชำระหนี้ก็ทำได้” นายสุรัตน์กล่าว และคาดการณ์ว่า NPL ของธุรกิจเอสเอ็มอีในภาพรวม น่าจะสูงสุดในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ทั้งนี้ ถือว่าสอดคล้องกับมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ก่อนหน้านี้ระบุว่า NPL ของเอสเอ็มอีจะสูงสุดในช่วงไตรมาส 4/2560

ขณะที่ “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท. บอกว่า ในเร็ว ๆ นี้ จะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ส่งออก ซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่ผันผวน โดย ธปท.ได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในการดำเนินการ

โดย สสว.จะสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือต้นทุน หรือค่าธรรมเนียมให้แก่เอสเอ็มอีในการทำป้องกันความเสี่ยงค่าเงินบาท โดยล็อกอัตราแลกเปลี่ยนไว้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับการทำธุรกิจ

“หากเอสเอ็มอีล็อกอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แล้วค่าเงินไปที่ 33.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐใน 3 เดือนข้างหน้า ก็สามารถยกเลิกการล็อก หรือกลับไปใช้อัตราปัจจุบัน โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมได้ หรือหากมองว่าเป็นผลดี ก็สามารถใช้อัตราที่ล็อกไว้ก็ได้ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจสามารถบริหารต้นทุนได้” นายวิรไทกล่าว

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ ธปท. บอกด้วยว่า ธปท. ยังได้ขอให้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งปรับการคิดค่าธรรมเนียมป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะปัจจุบันมีการคิดส่วนต่างกับลูกค้าแต่ละรายไม่เท่ากัน และคิดอัตราที่สูงเกินไป

มาตรการที่กำลังจะออกมาจะช่วยเอสเอ็มอีได้ “ถูกจุด” และ “ทันท่วงที” หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป