ความผันผวนตลาดการเงินโลก ช่วงต้นไตรมาส 4/61

คอลัมน์ลงทุนทั่วโลก

โดยสุรศักดิ์ ธรรมโม บลจ.วรรณ

ตลาดหุ้นสหรัฐฯและตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลงตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. และถือเป็นการปรับตัว “ลงมามาก” โดยตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค.นี้ ถึง 24 ต.ค.ที่ผ่านมา เพียงแค่ 24 วัน หรือประมาณ 18 วันที่ตลาดเปิดซื้อขาย ดัชนีหุ้นโลก (MSCI ACWI) และ S&P สหรัฐฯลงประมาณ 9% ดาวโจนส์และดัชนีหุ้นจีน (CSI 300) และยุโรป (STOXX600) 3 ตลาดลงประมาณ 7% ขณะที่ Nasdaq ซึ่งเป็นตัวแทนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและเป็นกลุ่มที่ P/E และ Forward P/E ลงประมาณ 12% ดัชนีญี่ปุ่นลง 12% เกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นทั่วโลก

ผมมีความเห็นดังนี้

1) ตลาดผันผวนมากเป็นเรื่องปกติของภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและปลายวัฏจักรเศรษฐกิจสหรัฐฯ (Late Cycle) ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกจะมีวิกฤต ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะพบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) อย่างเร็วที่สุดจะเกิดในปี 2020 หรืออีก 2 ปีข้างหน้าอย่างเร็วสุด ขณะที่การเร่งเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ในช่วงต้นวัฏจักรของการขึ้นดอกเบี้ย อาจจะทำให้ผู้ลงทุนประสบกับภาวะผันผวนในตราสารหนี้เช่นกัน และอาจจะขาดทุนได้ระยะหนึ่งจนกว่าดอกเบี้ยจะนิ่ง ซึ่งจากสัญญาณของ Fed ชี้ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมปีนี้อีก 1 ครั้ง และปีหน้าอีก 3 ครั้ง ซึ่งทุกๆ ครั้งของการขึ้นดอกเบี้ยจะส่ง “ผลลบ” ต่อตราสารหนี้ เพราะฉะนั้นขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะกระจุกการลงทุนหรือเน้นการลงทุนไปที่ตราสารหนี้เพียงอย่างเดียว

ภาพตลาดขณะนี้ เราอยู่ในช่วงปลายวัฏจักรเศรษฐกิจ (Late Cycle) แต่ภาวะนี้ หุ้นยังเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่ ในขณะที่กองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุการลงทุนระยะยาว (Durations ยาว) ในช่วงนี้จนถึงช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ยังคงได้รับผลกระทบ “เชิงลบ” ตามภาวะตลาดแต่หุ้นใน Late Cycle จะเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนอย่างมาก แต่เป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนอย่างโดดเด่นมากในช่วงนี้

2) สูตรหรือมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินแทบทุกอย่างมีต้นทางการคำนวณมาจากดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (yield) เมื่อดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้นและส่งผลให้ yield ขึ้นและเราก็เห็นว่า yield โดยเฉพาะ yield พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี ยังไม่ลงต่ำกว่า 3% เลย ปกติถ้านักลงทุนกลัวมากจะกลับไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลและกดดันให้ yield ลง นั่นหมายความปัจจัยหลักที่กดดันตลาด ไม่ใช่ความกลัวเรื่องเศรษฐกิจโลกหรือวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะถ้าหากเป็นความกลัวว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ก็จะเห็นเงินทั่วโลกจะไหลเข้าไปในตราสารหนี้และกดดันให้ yield ลงอย่างมากทันที ดังเช่นที่เคยเกิดแล้วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่น วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤตหนี้สินสาธารณะประเทศยุโรปกลุ่ม PIIGS และการปรับลงอย่างแรงมากของตลาดหุ้นจีนเมื่อ 3 ปีก่อน เป็นต้น

ข่าวดี คือการเพิ่มขึ้นของ Yield 10 ปีในลักษณะนี้ สะท้อนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ดีมาก ลดความเสี่ยงภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นสัญญาณชี้นำภาวะเศรษฐกิจถดถอยสหรัฐฯ อีกทั้งต้นเดือน**นี้ IMF รายงานภาวะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกล่าสุด โดยปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้าที่เดิมคาดจะเติบโต 3.9% ทั้ง 2 ปีลงเป็นขยายตัวที่ 3.7% ทั้ง 2 ปีหรือลดลง 0.2% จากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) อย่างไรก็ตาม การขยายตัวที่ 3.7% ถือว่าดีกว่าค่าเฉลี่ยการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ 3% อย่างมาก นอกจากนี้ในภาพย่อยเศรษฐกิจประเทศส่วนใหญ่ของโลกยังขยายตัวได้ดี

3) เมื่อดอกเบี้ยเป็นทิศทางขาขึ้นและ yield อยู่ในทิศทางขาขึ้นตามดอกเบี้ยสหรัฐฯ สิ่งที่ตามมาคือ มูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินจะต้องถูกมาประเมินความเหมาะสมกันใหม่ว่าถูกหรือแพงไปหรือไม่ ดังนั้นเราจะเห็นว่ากลุ่มอุตสาหกรรมและบริษัทที่มี P/E หรือ Forward P/E สูงๆ โดยที่กำไรต่อหุ้นไม่ได้เพิ่มมากหรือเพิ่มน้อยจะถูกเทขาย ดังนั้น Sector IT หรือหุ้นกลุ่ม Tech ที่ P/E และ Forward P/E สูง โดนเทขายมากสุด

4) เมื่องบการเงินไตรมาส 3 ทั้งยุโรปและสหรัฐฯ ประกาศหมดและผ่านการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 6 พ.ย.นี้ ความผันผวนของตลาดขณะนี้จะลดลงและเป็นไปได้ที่ตลาดและหุ้นที่พื้นฐานแข็งแกร่งจะฟื้นตัว

5) นักลงทุนควรพิจารณาที่ปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งพื้นฐานทางเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยยังคงมีทิศทางที่แข็งแกร่ง และยังไม่มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกจะมีวิกฤตในระยะใกล้นี้

ดังนั้น นักลงทุนที่มีระยะเวลาลงทุนระยะ “กลาง-ยาว ควรใช้โอกาสนี้” ทยอยซื้อถัวเฉลี่ย “หรือ” ลงทุนเพิ่ม” ในสินทรัพย์ที่มีพื้นฐานที่ดี หรือกรณีนักลงทุนไทยควรใช้สิทธินี้พิจารณาลงทุนในกองทุนประหยัดภาษีซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว