“เมย์แบงก์” ส่องกำไร บจ.ไตรมาส 4 แผ่ว

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการนักกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายวิจัย บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทำกำไรโดยรวมของงวดไตรมาส 4/61 ออกมา “ดีกว่า” งวดไตรมาส 3/61 เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่นของปี แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) คาดว่าจะไม่ดีนัก เนื่องจากมีปัจจัยกดดันทั้งจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดรุนแรง และแนวโน้มตัวเลขการส่งออก และการท่องเที่ยว น่าจะชะลอตัว ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจ

“ปัจจัยเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันดิบที่ยังมี downside ซึ่งหากราคาน้ำมันยังลดลงและแช่ไว้ที่ระดับต่ำ อาจกดดันให้ผลประกอบการ บจ.ปีนี้ ทั้งปีจะไม่เป็นไปตามเป้า ซึ่งเราประมาณการกำไร บจ.โดยรวมปีนี้อยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท หรือโต 8% จากปีก่อน แต่ในทางกลับกันหากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) มีการปรับลดกำลังการผลิตลงเพื่อให้ระดับราคาค่าน้ำมันดิบกลับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 65-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล คาดว่าจะทำให้ผลประกอบการของ บจ.เป็นไปตามเป้าได้” นายวิจิตรกล่าว

สำหรับไตรมาส 4/61 คาดว่าธุรกิจที่จะทำกำไรโดดเด่น คือ กลุ่มค้าปลีก เพราะเป็นไฮซีซั่นของกลุ่มนี้ ขณะที่ภาพรวมการบริโภคในประเทศยังดูดี ส่วนกลุ่มที่คาดกำไรสุทธิไม่ดี คือ กลุ่มโรงกลั่น เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับลดลง จึงอาจขาดทุนจากสต๊อก (stock loss)

ส่วนแนวโน้มกำไรสุทธิ บจ.ปี”62 คาดจะทำได้ราว 1.18 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) 116.00 บาท หรือเติบโต 6.9% จากปีก่อนที่ EPS อยู่ 108.50 บาท/หุ้น โดยมีปัจจัยบวก ได้แก่ การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการบริโภค จากการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรคนจน และคาดว่าปีหน้าจะมีมาตรการอื่น ๆ ออกมาอีก เช่น ด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น

ส่วนการเลือกตั้งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค. 62 น่าจะส่งผลให้มีการเร่งตัวของเศรษฐกิจก่อนการเลือกตั้ง และปัจจัยหนุนสุดท้าย คือ ตลาดคาดการณ์ว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้มีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (fed) อาจพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย “น้อย” กว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าน่าจะปรับอีก 3 ครั้งในปี”62

นายวิจิตรกล่าวถึงปัจจัยลบที่กดดันตลาดหุ้นในปีหน้าว่า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นข้อพิพาททางการค้าที่ยืดเยื้อระหว่างสหรัฐ และจีน หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันในการประชุม G20 ได้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจปีหน้า รวมถึงเม็ดเงินจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จากสหรัฐ และยุโรป ที่จะลดลงไปในปีหน้าจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รายงานกำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกปี”61 ของ บจ.โดยรวมอยู่ที่ 7.59 แสนล้านบาท เติบโต 13.27% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่มีกำไรสุทธิเติบโตดี คือ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หมวดธนาคาร และกลุ่มบริการ

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท.กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 เติบโตจากปัจจัยในประเทศ โดยการบริโภคเอกชนที่โตถึง 5% เพราะคนมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย มาตรการของภาครัฐ และราคาสินค้าเกษตรที่ฟื้นตัว จึงทำให้เศรษฐกิจในประเทศยังแข็งแกร่ง ช่วยหนุนผลประกอบการของ บจ.ไทย