ค่าเงินบาทอ่อนค่า หลัง ธปท.เตรียมป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/8) ที่ระดับ 33.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (21/8) ที่ 33.24/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ช่วงเย็นของวันจันทร์ (21/8) มีการแถลงการณ์ของนางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กล่าวว่า ธปท.เห็นสัญญาณการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่หนาแน่นกว่าปกติในบางช่วง จึงขอให้สถาบันการเงินรายงานข้อมูลเพิ่มเติม หาก ธปท.พบพฤติกรรมการโอนเงินบาทระหว่างบัญชีของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident) ที่ผิดปกติซึ่งอาจโยงกับการเก็งกำไรก็อาจจะพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อจำกัดโอกาสการเก็งกำไรค่าเงินบาท ทั้งนี้เนื่องจากการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่า 7% นับตั้งแต่ต้นปี 60 แม้จะเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นสำคัญ แต่ระยะนี้ตลาดเงินตราต่างประเทศผันผวนสูงขึ้นจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะจากปัญหาการเมืองในสหรัฐ อาจทำให้มีผู้ร่วมตลาดบางกลุ่มใช้โอกาสนี้มาเก็งกำไรค่าเงินสกุลภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น และสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้ หลังจากการแถลงการณ์ครั้งนี้ทำให้นักลงทุนขายเงินบาทออกมาบางส่วนเนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว

ส่วนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเองก็อ่อนค่าลงเมื่อเทียบค่าเงินสกุลหลักในวันจันทร์ (21/8) ท่ามกลางความตึงเครียดเกี่ยวกับสถานการณ์เกาหลีเหนือ หลังจากที่กองทัพเกาหลีใต้และสหรัฐเริ่มทำการซ้อมรบทางทหารที่จำลองด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับเกาหลีเหลือ และเกาหลีเหนือประณามการซ้อมรบดังกล่าวว่าเป็นการเตรียมการสำหรับการทำสงครามนิวเคลียร์

ในขณะที่นักลงทุนมุ่งความสนใจไปยังการประชุมธนาคารกลางประจำปีที่เมืองแจ็คสัน โฮล ในรัฐไวโอมิงของสหรัฐ ในวันที่ 24-25 สิงหาคม เพื่อมองหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางนโยบายการเงิน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การแถลงการณ์ของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันศุกร์ (25/8) นายสตีเฟน อินเนส จากบริษัท OANDA กล่าวว่า ถ้าหากถ้อยแถลงของนางเยลเลนสนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม นักลงทุนก็อาจจะเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐ และจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้น อีกประเด็นหนึ่งที่สนใจในการประชุมครั้งนี้ก็คือ การพิจารณาของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางจากทั่วโลกถึงสาเหตุที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำในช่วงที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงขยายตัว และอัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับต่ำ ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ใช้เงินไปแล้วราว 2 ล้านล้านยูโรในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งผลให้ตัวเลขการผลิตออกมาเป็นที่น่าพอใจ แต่อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนยังคงอยู่ที่ระดับเพียง 1.3% และห่างจากระดับเพดานที่ 2.0% เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ มาตรวัดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานบางอันก็อยู่ต่ำกว่า 1.3% อีกด้วย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.23-33.27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.25-27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (22/8) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1815/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (21/8) ที่ 1.1739/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นหลังจากที่ ธนาคารกลางเยอรมนี หรือบุนเดสแบงก์ระบุในรายงานประจำเดือนว่า เศรษฐกิจเยอรมนีในปีนี้อาจขยายตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากการผลิตภาคอุตสาหกรรม, การส่งออก และการอุปโภคบริโภคขยายตัวอย่างมาก โดยบุนเดสแบงก์เปิดเผยหลังจากที่เศรษฐกิจเยอรมนีขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีในไตรมาส 2ว่า ยอดขายที่แข็งแกร่งกำลังทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคการผลิตสูงขึ้น ซึ่งทำให้การลงทุนของภาคเอกชนในเยอรมนีเพิ่มขึ้น ทั้งวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1764-1.1824 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1767/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (22/8) เปิดตลาดที่ระดับ 109.14/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (21/8) ที่ระดับ 109.01/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงหลังจากที่มีรายงานถึงมุมมองของบริษัทญี่ปุ่นต่อตัวเลขเงินเฟ้อในประเทศออกมาว่า บริษัทส่วนใหญ่เชื่อว่าบีโอเจจะต้องใช้เวลานานกว่า 3 ปีในการบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ หรืออาจจะไม่มีทางบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้เลย โดยบีโอเจเพิ่งปรับเลื่อนกำหนดเวลาในการบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% ออกไปเป็นครั้งที่ 6 ในเดือนกรกฎาคม โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2019 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2020 โดยทั้งนี้การเคลื่อนไหวระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.86-109.46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.29/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงสัปดาห์นี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของฝรั่งเศส (23/8) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของเยอรมนี (23/8) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของยูโรโซน (23/8) ตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐ (23/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.75/-0.55 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.00/-0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ