2562…ปีแห่งความท้าทาย ของสหภาพยุโรป

ภาพ Pixabay

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ขวัญใจ เตชเสนสกุล EXIM BANK

นับตั้งแต่ปลายปี 2561 เป็นต้นมา มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ รวมถึงความรู้สึกของผู้อ่านที่มีต่อทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลกปี 2562 คงดูไม่ค่อยสดใสนัก โดยส่วนใหญ่จะพุ่งเป้าไปที่สงครามการค้าว่าเป็นตัวการสำคัญที่บั่นทอนบรรยากาศการค้า การลงทุน และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้อย่างน่าจับตาไม่แพ้กัน คือ ทิศทางของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป หรือ EU โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ EU ในปีนี้เหลือขยายตัว 1.6% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี จากเดิมที่เคยคาดไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ว่า จะขยายตัว 1.9% นับเป็นประเทศตลาดหลักที่ถูกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจลงมากที่สุดในรอบนี้ ซึ่งหากมองปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ในปี 2562 พบว่า EU กำลังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ได้แก่

1.เยอรมนีที่ถือเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจของ EU ด้วยสัดส่วนเศรษฐกิจคิดเป็นราว 30% ของเศรษฐกิจ EU และถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ EU อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 เศรษฐกิจเยอรมนีมีแนวโน้มชะลอลงมาก โดย IMF คาดว่าจะขยายตัว 1.3% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความปั่นป่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีสัดส่วนราว 20% ของอุตสาหกรรมทั้งหมด หลังจากมีการตรวจสอบพบว่า บริษัทรถยนต์หลายค่ายบิดเบือนผลการทดสอบมาตรฐานการปล่อยไอเสีย (automobile emission standard) ทั้ง ๆ ที่ผลการทดสอบไม่ผ่านมาตรฐานในการใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน ทำให้ในปี 2562 ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ต้องเร่งแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อลดการปล่อยไอเสีย หรือการเรียกคืนรถยนต์บางส่วน ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในเยอรมนีมีแนวโน้มซบเซา และฉุดให้เศรษฐกิจเยอรมนีในปี 2562 ชะลอลงตาม

2.เสถียรภาพทางการเมืองของประเทศยักษ์ใหญ่เริ่มไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ซึ่งคะแนนความนิยมของรัฐบาลตกต่ำสุดในรอบหลายปี สะท้อนจากผลการเลือกตั้งท้องถิ่นในแคว้นบาวาเรีย ซึ่งเป็นแคว้นที่มีความสำคัญที่สุด โดยพรรคของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ได้คะแนนเสียง 37% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จนนำไปสู่การตัดสินใจลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคของนางแมร์เคิล หลังจากที่เอ็มมานูเอล มาครง นายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส ประกาศขึ้นภาษีน้ำมัน ทำให้เกิดการประท้วงในหลายเมือง โดยเฉพาะในปารีส จากกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง (yellowvest) ซึ่งการประท้วงยังคงยืดเยื้อถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ การประท้วงในฝรั่งเศสยังเหมือนไฟลามทุ่งที่ก่อให้เกิดกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองที่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาล และออกมาประท้วงในอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสเปน เบลเยียม และฮังการี

ADVERTISMENT

3.เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในยุโรป (Emerging Europe) ยังเปราะบาง จากคาดการณ์เศรษฐกิจของ IMF ฉบับล่าสุด กลุ่ม Emerging Europe กลายเป็นกลุ่มประเทศที่ถูกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2562 ลงมากที่สุด จากที่เคยคาดว่าจะขยายตัว 2% เหลือ 0.7% และทำให้ Emerging Europe กลายเป็นกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำที่สุดในโลกในปี 2562 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ยังยืดเยื้อ โดยเฉพาะตุรกีที่ล่าสุดเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2561 หดตัว 1.1% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจตุรกีจะหดตัวต่อเนื่องในไตรมาส 4 ซึ่งหมายถึงการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการ

4.การแยกตัวออกจาก EU ของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit กำลังจะถึงเส้นตายในวันที่ 29 มี.ค. 2562 อย่างไรก็ตาม การเจรจาระหว่าง EU และสหราชอาณาจักร กลับยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งในเวลาอีก 2 เดือนข้างหน้า หากทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ อาจทำให้สหราชอาณาจักรต้องแยกตัวแบบ nodeal Brexit ซึ่งสหราชอาณาจักรจะถูกตัดสิทธิประโยชน์ด้านการค้า การลงทุน ที่เคยได้รับจาก EU ทั้งหมด และมีผลบังคับใช้ในทันที ซึ่งถือเป็นรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด (worst case) และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งสหราชอาณาจักรและ EU อย่างรุนแรง

ADVERTISMENT

จากทิศทางเศรษฐกิจ EU ที่มีแนวโน้มชะลอลง ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยนัก ย่อมส่งผลต่อการส่งออกของไทยไป EU อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกของไทยไป EU ในปี 2561 ขยายตัว 5.2% ชะลอลงจากปี 2560 ที่ขยายตัว 7.9% ขณะที่หากพิจารณามูลค่าส่งออกรายเดือนของไทยไป EU พบว่า หดตัว 3 เดือนติดต่อกันตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ดังนั้น ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออกไปยังตลาด EU ควรติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของ EU อย่างใกล้ชิด

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!