Bond Yield ไทยกับสหรัฐ… ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป

คอลัมน์ สถานีลงทุน

โดย ศิรินารถ อมรธรรม ThaiBMA

ในอดีตที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (bond yield) สหรัฐและไทยอายุ 10 ปี มีความสัมพันธ์กันค่อนข้างสูง แต่ในช่วงหลังวิกฤตซับไพรม หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เมื่อปี 2008 ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (bond yield) สหรัฐและไทยอายุ 10 ปี ดูจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกันน้อยลง โดยค่าทางสถิติหนึ่งที่เรียกว่า correlation ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของ 2 ตัวแปร ซึ่งคำนวณจากข้อมูลในช่วงหลังปี 2008 ก็มีค่าต่ำลงจากในช่วงก่อนหน้า (ปี 2002-2008 มีค่า +0.57 และลดเหลือ +0.51 ในช่วงปี 2009-2018)

แม้ว่าค่าทางสถิติจะลดลงเพียงเล็กน้อย แต่หากมองถึงสถานการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีหลายช่วงจังหวะที่ bond yield ไทยเคลื่อนไหวตามปัจจัยเฉพาะของไทยเองเสียมากกว่าที่จะเคลื่อนไหวล้อตามไปกับ bond yield สหรัฐ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แล้วจะเป็นอย่างนี้ไปอีกนานไหม

สำหรับพื้นฐานเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินไทย ณ ปัจจุบัน นับว่ามีความแข็งแกร่งขึ้นมาก โดยเศรษฐกิจไทยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคส่งออกและการท่องเที่ยว ส่งผลให้ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2017 มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่กว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 11% ของจีดีพีซึ่งสูงกว่าเมื่อปี 2008 มากนัก ส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยจัดการกับความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนโลกก็เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ด้านหนี้ต่างประเทศโดยรวมของประเทศ ถึงแม้สัดส่วนปัจจุบันจะอยู่ที่กว่า 30% ของจีดีพี ใกล้เคียงกันกับเมื่อปี 2008 แต่หากเทียบกับระดับ 70% เมื่อตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 1997 ก็ถือว่ามีสัดส่วนลดลงอย่างมาก นั่นคือประเทศไทยพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศน้อยลง จากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา ประเทศไทยมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างมากในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จึงสามารถเผชิญความผันผวนในต่างประเทศได้ดีขึ้น ความเสี่ยงจากต่างประเทศจึงมีแนวโน้มจะกระทบต่อตลาดทุนไทยน้อยลง อย่างน้อยก็กับตลาดตราสารหนี้ไทย

ถ้าดูจากเหตุการณ์ในปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีหลายช่วงเวลาที่ bond yield ไทย มีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกเทศจาก bond yield สหรัฐ หรือได้รับผลกระทบอย่างจำกัดแม้ว่า bond yield สหรัฐ จะค่อนข้างผันผวนก็ตาม โดยส่วนต่างของค่าสูงสุดและต่ำสุด bond yield 10 ปีของไทยในปีที่ผ่านมามีค่าเพียงครึ่งหนึ่ง (44 bps) ของ bond yield สหรัฐ (80 bps) และตลอดทั้งปีก็มีหลายช่วงหลายตอนที่ bond yield ไทยกับสหรัฐไม่ค่อยจะสัมพันธ์กัน ยกตัวอย่าง เช่น

เปิดต้นปีในเดือนมกราคม bond yield สหรัฐ เพิ่มขึ้นราว 28 bps จากความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐ ที่คาดว่าจะขยายตัวดี แต่ bond yield ไทย กลับลดลง 3 bps จากเงินลงทุนต่างประเทศที่ทั้งเดือนยังไหลเข้าซื้อในตราสารหนี้ระยะยาวสุทธิสูงถึง 3.9 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ช่วงดังกล่าวยังเป็นจุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหวของ bond yield ไทย รุ่นอายุไม่เกิน 10 ปีที่ปรับตัวมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า bond yield สหรัฐ

ถัดมาในช่วงครึ่งเดือนหลังของพฤษภาคม bond yield สหรัฐ ปรับลดลงถึง 27 bps จาก 3.095% มายืนที่ 2.83% จากความกังวลเรื่องหนี้ของอิตาลี และปัญหาการเมืองในสเปน แต่ทว่า bond yield ไทยปรับขึ้น 8 bps จากการประกาศจีดีพีไตรมาส 1 ที่ขยายตัวดีกว่าคาด และสูงสุดในรอบ 5 ปี

ต่อมาในเดือนกรกฎาคมแม้ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเริ่มร้อนระอุอีกครั้ง แต่ข้อมูลการจ้างงานเชิงบวกช่วยหนุนให้ bond yield สหรัฐ ปรับขึ้นอีก 10 bps ตรงข้ามกับ bond yield ไทย ที่ลดลง 8 bps. จากเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง

และอีกช่วงหนึ่งในปลายไตรมาส 3 ที่ความผันผวนในตลาดดีดสูงขึ้นจากความกังวลต่อวิกฤตเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐก็ยังออกมาดี ส่งผลให้ bond yield สหรัฐ ปรับขึ้นถึง 35.5 bps ไปยืนที่ 3.227% แถมเป็นการแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี แต่ bond yield ไทย ขยับขึ้นเพียง 14 bps หลังข้อมูลเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มส่งสัญญาณแผ่วตัวลง การปรับขึ้นครั้งนี้จึงเป็นการทำสถิติสูงสุดในปี 2018 ที่ 2.885% ก่อนที่จะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายปี

จากเหตุการณ์ที่กล่าวมาจะเห็นว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น บวกกับเสถียรภาพทางการเงินที่เข้มแข็งขึ้น เปรียบเสมือนเกราะป้องกันความผันผวนให้กับเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ตราบเท่าที่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังดี การเคลื่อนไหวของ bond yield ไทยจึงน่าจะยังคงมีความเป็นอิสระจากสหรัฐต่อไป

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!