ค่าเงินบาทผันผวน นักลงทุนจับตาดูตัวเลขจีดีพีสหรัฐ

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 22-26 เมษายน 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (22/4) ที่ระดับ 31.83/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (19/4) ที่ระดับ 31.82/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์นี้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นโดยมีปัจจัยหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจ รวมถึงการอ่อนค่าของเงินสกุลหลักอื่น ๆ อาทิ ค่าเงินยูโร และค่าเงินออสเตรเลีย โดยในคืนวันอังคาร (23/4) ยอดขายบ้านใหม่เดือน มี.ค.เพิ่มขึ้น 4.5% สู่อัตรา 692,000 ยูนิตต่อปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปีครึ่ง โดยได้รับแรงหนุนจากการร่วงลงของอัตราดอกเบี้ยจำนองและการร่วงลงของราคาบ้าน นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้ปัจจัยบวกหลังการเจรจาในประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐและจีนกำลังคืบหน้าไปด้วยดี โดยล่าสุดทำเนียบขาวเปิดเผยว่านายโรเบิร์ต ไลท์ไธเวอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ และนายสตีเฟ่น มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเดินทางไปยังกรุงปักกิ่งเพื่อร่วมการเจรจาการค้าที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 30 เมษายนนี้ ส่วนนายหลิวเหอ รองนายกรัฐมนตรีจ่นจะเดินทางไปยังกรุงวอชิงตันเพื่อหารือเพิ่มเติมในวันที่ 8 พ.ค.

ทั้งนี้ประเด็นที่จะมีการหารือในสัปดาห์หน้าจะครอบคลุมประเด็นการค้าทั้งทรัพย์สินทางปัญญา, การบังคับให้ถ่ายโอนเทคโนโลยี, กำแพงการค้าที่ไม่ใช่ภาษี, เกษตรกรรม, บริการ, การจัดซื้อ และการบังคับใช้กฎ อย่างไรก็ตามนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงเฝ้ารอดูตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาสแรกในวันศุกร์นี้ (26/4) โดยนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่าตัวเลขดังกล่าวจะขยายตัวร้อยละ 2.2 เท่ากับไตรมาสที่ 4 เมื่อปีที่แล้ว

สำหรับปัจจัยในประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทย ระบุว่า การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2562 มีมูลค่า 21,440.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลง 4.88% ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะปรับตัวลง 3.3% โดยสินค้าส่งออกที่ดินลบมากได้แก่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกล รวมถึงสินค้าในหมวดเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย และมันสำปะหลัง ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,4135.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลง 7.63% และสัดส่วนดุลการค้าเกินดุล 2,000.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ภาพรวมของการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 ปรับตัวลง 1.64% ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวเมื่อรวมกับการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐและปัจจัยทางเทคนิคทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวทะลุแนวต้านแถวระดับ 32.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐขึ้นมา ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.81-32.13 บาท/ดอลลาร์สหรับ และปิดตลาดในวันศุกร์ (26/4) ที่ระดับ 31.96/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรนั้น เปิดตลาดวันจันทร์ (22/4) ที่ระดับ 1.1242/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/4) ที่ระดับ 1.1244/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างมากในสัปดาห์นี้หลังตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวของประเทศหลักและของกลุ่มยูโรโซนเองยังออกมาย่ำแย่ อาทิ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีลดลงในเดอน เม.ย. สวนทางกับที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยสถาบันเศรษฐกิจ IFO เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงสู่ระดับ 99.2 ในเดือน เม.ย. จากระดับ 99.7 ในเดือน มี.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 99.9 ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนกำลังชะลอตัว โดยเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และประเทศคู่ค้า รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1118-1.1262 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (26/4) ที่ระดับ 1.1136/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (22/4) ที่ระดับ 111.95/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/4) ที่ระดับ 111.91/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเยนแกว่งตัวอยู่ในกรอบ ก่อนช่งวันหยุดยาวของญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน จนถึง 6 พฤษภาคม 2562 เนื่องในโอกาสวันพิธีบรมราชาภิเษกของมกุฎราชกุมาร นารุฮิโตะ เป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเงินเยน ได้แก่ การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ ร้อยละ -0.01พร้อมทั้งประกาศว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบันอย่างน้อยจนถึงช่วงฤดูใบไม้ผลิในปี 2563 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ท่ามกลางความผันผวนของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะยังคงอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ระดับร้อยละ 2 ในปีงบประมาณ 2564 โดยธนาคารกลางจะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษเอาไว้ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นนอกจากนี้ BOJ ยังได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2563 ลงสู่ระดับร้อยละ 1.4 จากการคาดการณ์ในเดือนมกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.5 ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.38-112.40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.75/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ