โบรกฟันธง Q2 กำไร บจ.ตก 2.2% ลดเป้าดัชนี/ลุ้นฟันด์โฟลว์เข้า-เฟดลดดอกเบี้ย

2 โบรกเกอร์ฟันธงผลดำเนินงานไตรมาส 2 “ไม่สดใส” ปรับลดเป้าดัชนี ค่าย “บัวหลวง” คาดดัชนีลงแถว 1,670 จุด ลุ้นฟันด์โฟลว์ไหลเข้าไทย ชี้ช่องลงทุนหุ้นอิงเศรษฐกิจในประเทศ-หุ้นปันผลสูง เตือนรัฐบาลจัดตั้งช้าฉุดบรรยากาศลงทุน พร้อมเกาะติด ก.ย. ท่าทีเฟดลดดอกเบี้ย

นายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า บริษัทมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นในเดือน มิ.ย. 62 เนื่องจากประเมินสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ตอบโต้กันในขณะนี้ เป็นเพียงยุทธวิธี (tactic) ก่อนจะเจรจากันในการประชุมสุดยอดผู้นำ (G20) ที่เกิดขึ้นวันที่ 28-29 มิ.ย.นี้ โดยคาดว่าผลการเจรจาจะออกมาในเชิงบวก หรือสหรัฐจะยอมลดกำแพงภาษีที่นำเข้าสินค้าจากจีนลง เนื่องจากสหรัฐเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบมากกว่า สะท้อนผ่านตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ลดลง ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า การตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของสหรัฐ ต้องแบกรับต้นทุนวัตถุดิบเพิ่ม

สำหรับปัจจัยในประเทศ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่น่าจะสำเร็จภายในเดือน มิ.ย. แต่ก็มีความเสี่ยงที่รัฐบาลใหม่ไม่ได้มีเสียงข้างมาก และอาจมีอายุการทำงานที่ค่อนข้างสั้น จึงอาจส่งผลให้รัฐบาลใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนพึงพอใจกับผลงานและสามารถต่ออายุของรัฐบาลให้ยืนยาวขึ้นได้ ส่วนปัจจัยผลประกอบการงวดไตรมาส 1/62 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ออกมาดีกว่าคาดไว้ประมาณ 6% แต่ไตรมาส 2 บจ.จะมีค่าใช้จ่ายตั้งสำรองผลประโยชน์สำหรับพนักงานเกษียณตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้กำไร บจ.ลดลงราว 2.2%

“หลังจากสงครามการค้ามีการตอบโต้กันแรงขึ้น ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดเป้า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET index) ลงจาก 1,750 จุด มาอยู่ที่ 1,725 จุด แต่ยังคงตัวเลข EPS (กำไรสุทธิต่อหุ้น) ไว้อยู่ที่ 108-109 บาท/หุ้น และ P/E ของตลาดไว้ที่ 15 เท่า ซึ่งจะส่งผลให้ประมาณการกำไร บจ.ปีེ จะออกมาใกล้เคียงประมาณการเดิมที่เติบโต 15%”

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในเดือน มิ.ย. นายสุนทรกล่าวว่า ให้น้ำหนักในหุ้น domestic play (หุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศ) ได้แก่ 1.หุ้นกลุ่มค้าปลีก ที่คาดจะได้รับแรงหนุนจากการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น หลังรัฐบาลใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 2.หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ที่รัฐบาลใหม่ทยอยลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ค้างท่อมูลค่ารวมเกือบ 6 แสนล้านบาท รวมถึงเปิดประมูลโครงการใหม่ ๆ 3.หุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ที่น่าจะได้ผลบวกจากที่จีนย้ายฐานการผลิตมาไทย 4.หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลมีแผนสนับสนุนการลงทุนขยายไปยังเวียดนาม และ 5.หุ้นกลุ่มที่ให้เงินปันผลสูง ได้แรงหนุนจากดอกเบี้ยขาลง ขณะที่รัฐบาลเรียกเก็บภาษีกองทุนรวมตราสารหนี้ (บอนด์) 15% ส่งผลให้เม็ดเงินบางส่วนจากบอนด์ หันมาลงทุนหุ้นปันผลสูงแทน

“แนวโน้มฟันด์โฟลว์ (เม็ดเงินต่างชาติ) มีโอกาสกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตไม่สูงมาก เทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน แต่เรามีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่สูงกว่า อย่างไรก็ตาม หากมองระยะยาวยังมีความเสี่ยงที่ฟันด์โฟลว์จะไหลออกจากไทยไปยังตลาดหุ้นจีน เนื่องจากจีนได้รับการปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุน ดัชนี MSCI China A-Shares เหมือนกัน ในช่วงปลายปีนี้ เราคาดว่าจะมีเงินไหลออกรวม 3 หมื่นล้านบาท ราว 3 รอบ ตั้งแต่เดือน พ.ย. 62 เดือน ก.พ. และ พ.ค. 63”

นายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ นักวิเคราะห์การลงทุน ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุนและปัจจัยทางเทคนิค บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในเดือน มิ.ย. น่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน เนื่องจากเชื่อว่าต่างชาติยังมองไทยเป็น safe haven อีกทั้งมีหุ้นที่จ่ายปันผลค่อนข้างสูง จึงดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนไทย แต่หากการเมืองในประเทศยังอึมครึม หรือยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ อาจส่งผลให้ฟันด์โฟลว์ชะลอการเข้ามาลงทุนไทยก่อน

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศยังมีวัฏจักรขาลงของเศรษฐกิจโลก และสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ได้ยกระดับเกินกว่าที่คาดกัน รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐระยะสั้น ที่ปรับขึ้นสูงกว่าพันธบัตรระยะยาว (inverted yield curve) สะท้อนความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐที่จะถดถอย จึงคาดว่ามีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5% ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 62 ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิด

“อย่างไรก็ตาม แนวโน้มผลดำเนินงานของ บจ. งวดไตรมาส 2/62 ยังได้รับแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงาน ฝ่ายวิจัยเราได้ตัดสินใจปรับลดประมาณการกำไร บจ.ปีนี้ลง รวมถึงปรับลดเป้าภาพรวม SET index จาก 1,730 จุด ลงมาที่ 1,670 จุด และปรับลด EPS จาก 107.60 บาท/หุ้น ลงมาที่ 105.00 บาท/หุ้น ทำให้ P/E อยู่ที่ 15.5 เท่า”

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รายงานไตรมาส 1/62 บจ.จำนวน 668 หลักทรัพย์ (94.4% ของทั้งหมด) มียอดขายรวม 2.92 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% ขณะที่มีกำไรจากการดำเนินงานหลักราว 2.73 แสนล้านบาท ลดลง 3.3% ซึ่งเป็นผลจากธุรกิจหมวดพลังงานและปิโตรเคมีภัณฑ์ได้รับผลกระทบเรื่องค่าการกลั่นและส่วนต่างราคาน้ำมัน โดยกำไรสุทธิอยู่ที่ 2.52 แสนล้านบาท ลดลง 9.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งหมวดที่มีกำไรเพิ่มขึ้น คือ อาหารและเครื่องดื่ม ธนาคาร พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ด้านอัตรากำไรสุทธิของ บจ.ลดลงมาอยู่ที่ 8.6%

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในเดือน มิ.ย. แนะนำหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจในประเทศ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การวางระบบ นิคมอุตสาหกรรม และการอุปโภค/บริโภค โดยเน้นลงทุนในหุ้นที่โดดเด่นกว่าตลาด (Alpha) หุ้นขนาดกลาง และหุ้นขนาดเล็กที่มีศักยภาพและมีโอกาสที่ราคาจะปรับขึ้น