ค่าเงินดอลลาร์ทรงตัว หลังตลาดปิดวันแรงงานสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 5 กันยายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/9) ที่ระดับ 33.15/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (4/9) ที่ 33.16/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวเนื่องจากตลาดเงินปิดทำการในวันจันทร์ (4/9) โดยเป็นวันแรงงานสหรัฐ หลังจากที่อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีครึ่งจากผลกระทบของความวิตกเกี่ยวกับความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี หลังจากที่เกาหลีเหนือทำการทดลองนิวเคลียร์เมื่อวันอาทติย์ที่ผ่านมา (2/9) ซึ่งเป็นการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยดำเนินการมา นอกจากนี้นายแฮร์รี่ คาเซียนิส ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักศึกษาด้านการป้องกันประเทศของศูนย์พิทักษ์ผลประโยชน์แห่งชาติสหรัฐ ยังระบุว่า เกาหลีเหนือเตรียมทำการยิงขีปนาวุธครั้งใหม่ในวันเสาร์ที่จะถึงนี้ (9/9) เพื่อเฉลิมฉลองวันก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี

ส่วนปัจจัยภายในประเทศก็มี นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ภายใต้การปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมกากรแลกเปลี่ยนเงินเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนไทยส่งเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงเพิ่มความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติดังนี้ ทาง ธปท.จะขยายวงเงินจัดสรรสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ที่ ธปท.อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดสรรให้แก่ผู้ลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.และบุคคลรายย่อยที่ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านตัวแทนการลงทุนในไทย เช่น กองทุนรวม และบริษัทหลักทรัพย์ จากเดิมวงเงินรวมจำนวน 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงมีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงิน (money changer) โดยให้ money changer สามารถซื้่อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนธนบัตรต่างประเทศกับธนาคารในต่างประเทศ หรือผู้ประกอบธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินในต่างประเทศได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยให้สอดคล้องกับปริมาณธุรกรรมที่ money changer ทำกับลูกค้า ส่วนทางด้าน นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภา ผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือนกรกฎาคม 2560 มีมูลค่า 18,852 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทมีมูลค่า 635,791 ล้านบาท ขยายตัว 6.6% ส่งผลให้การส่งออก 7 เดือนแรกมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 132,399 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.2% ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาท 7 เดือนแรก มีมูลค่า 4.57 ล้านล้านบาทขยายตัวได้ 5.9% สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยนั้นคือการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งสภาผู้ส่งออกขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำกับดูแลเงินบาทให้มี เพื่อที่จะไม่ให้กระทบต่อสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศสูง โดยเฉพาะเกษตรต้นน้ำและกลุ่มผู้ส่งออกเอสเอ็มอี ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.14-33.19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.16/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (5/9) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1901/03 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (4/9) ที่ 1.1912/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยการซื้อขายยังคงเบาบาง โดยเมื่อวานนี้ (4/9) สำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป หรือยูโรสแตทเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของยูโรเพิ่มขึ้นช้ากว่าคาดในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ ดัชนี PPI ของ 19 ประเทศที่ใช้ยูโรไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.1% ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงรอคอยการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป หรือ อีซีบีที่จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ (7/9) ทั้งวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1866-1.1911 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1882/83 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (5/9) เปิดตลาดที่ระดับ 109.54/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (4/9) ที่ระดับ 109.53/55 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบแคบหลังจากที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐ ที่ส่งผลให้นักลงทุนส่วนใหญ่เกิดความกังวลและกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ส่วนด้านตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาในช่วงเช้าก็มี มาร์กิต/นิกเกอิรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของญี่ปุ่นร่วงลงสู่ 51.6 ในเดือนสิงหาคมจาก 52.0 ในเดือนกรกฎาคม แต่อย่างไรก็ดีดัชนีที่อยู่สูงกว่า 50 บ่งชี้ถึงการเติบโต โดยดัชนีอยู่สูงกว่า 50 เป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน โดยทั้งนี้การเคลื่อนไหวระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.18-109.83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.43/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงสัปดาห์นี้ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าโรงงานของสหรัฐ (5/9) ตัวเลขดุลการค้าของสหรัฐ (6/9) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐ (6/9) ตัวเลขยอดค้าปลีกของออสเตรเลีย (6/9) ตัวเลขดุลการค้าของออสเตรเลีย (6/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.90/-1.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.30/-1.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ