บาทผันผวนตามเงินทุนที่ไหลเข้า-ออก

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 4 กันยายน -8 กันยายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (4/9) ที่ระดับ 33.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/9) ที่ระดับ 33.17/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (1/9) กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 156,000 ตำแหน่งในเดือนสิงหาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่ง ในขณะที่อัตราการว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.4% แย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 4.3% ส่วนอัตราค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมงของแรงงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% แต่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 0.3% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% นอกจากนี้สถาบันไอเอสเอ็ม ยังมีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นระดับ 58.8 ในเดือนสิงหาคม จากระดับ 56.3 ในเดือนกรกฎาคม ในขณะที่ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 96.8 ในเดือนสิงหาคม ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 97.4 หลังจากอยู่ที่ระดับ 93.4 ในเดือนกรกฎาคม แต่อย่างไรก็ตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวอ่อนค่าลง จากผลกระทบของความวิตกเกี่ยวกับความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี หลังจากที่เกาหลีเหนือทำการทดลองนิวเคลียร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (2/9) ซึ่งเป็นการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยดำเนินการมา นอกจากนี้ นายแฮร์รี่ คาเชียลนิส ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักศึกษาด้านการป้องกันประเทศของศูนย์พิทักษ์ผลประโยชน์แห่งชาติสหรัฐ ยังระบุว่า เกาหลีเหนือเตรียมทำการยิงขีปนาวุธครั้งใหม่ในวันเสาร์ที่จะถึงนี้ (9/9) เพื่อเฉลิมฉลองวันก่อตั้งสาธารณัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์สหรัฐได้เปิดเผยคำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐปรับตัวลดลง ของยอดสั่งซื้อภาคโรงงานมีสาเหตุจากอุปสงค์ที่ลดลงในคำสั่งซื้อเครื่องบินพาณิชย์ซึ่งทรุดตัวลง 70.8%

อย่างไรก็ดี ยอดสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐาน ที่ไม่รวมหมวดอาวุธและเครื่องบิน เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนกรกฎาคม หลังจากปรับตัวลง 0.1% ในเดือนมิถุนายน โดยยอดสั่งซื้อดังกล่าวได้รับการจับตาว่าเป็นมาตรวัดความเชื่อมั่น และแผนการใช้จ่ายในภาคธุรกิจ ในขณะที่นางลาเอล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า ขณะนี้เงินเฟ้อในสหรัฐกำลังปรับตัวลง และอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2% ดังนั้น เฟดจึงควรใช้ความระมัดระวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนกว่าจะมีความมั่นใจว่าราคากำลังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น และเฟดควรสร้างความชัดเจนว่า เฟดสามารถยอมรับอัตราเงินเฟ้อซึ่งอยู่เหนือระดับเป้าหมายของเฟดเล็กน้อย นอกจากนี้นักลงทุนจับตามองการแถลงนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันนี้ (6/9) ที่รัฐนอร์ธดาโกตา สำหรับการกล่าวปราศรัยที่รัฐนอร์ธดาโกตา มีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แถลงนโยบายภาษีที่เมืองสปริงฟิลด์ รัฐมิสซูรี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เน้นย้ำถึงการเดินหน้าปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงสู่ระดับ 15% จากระดับ 35% ในปัจจุบัน เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐ

ในด้านของประเทศไทย มีนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ดำเนินการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ภายใต้การปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนไทยส่งเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงเพิ่มความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติดังนี้ ทาง ธปท.จะขยายวงเงินจัดสรรสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ที่ ธปท. อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดสรรให้แก่ผู้ลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และบุคคลรายย่อยที่ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านตัวแนการลงทุนในไทย เช่น กองทุนรวม และบริษัทหลักทรัพย์ จากเดิมวงเงินรวมจำนวน 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงมีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงิน (money changer) โดยให้ money changer สามารถซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนธนบัตรต่างประเทศกับธนาคารในต่างประเทศ หรือผู้ประกอบธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินในต่างประเทศได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยให้สอดคล้องกับปริมาณธุรกรรมที่ money changer ทำกับลูกค้า

ส่วนทางด้านกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภา ผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือนกรกฎาคม 2560 มีมูลค่า 18,852 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทมีมูลค่า 635,791 ล้านบาท ขยายตัว 6.6% ส่งผลให้การส่งออก 7 เดือนแรกมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 132,399 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.2% ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาท 7 เดือนแรก มีมูลค่า 4.57 ล้านล้านบาท ขยายตัวได้ 5.9% สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยนั้นคือการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งสภาผู้ส่งออกขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำกับดูแลเงินบาทให้มี เพื่อที่จะไม่ให้กระทบต่อสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศสูง โดยเฉพาะเกษตรต้นน้ำและกลุ่มผู้ส่งออกเอสเอ็มอี ซึ่งระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.03-33.20 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (8/9) ที่ระดับ 33.09/11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ด้านการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (4/9) ที่ระดับ 1.1877/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/9) ที่ระดับ 1.1914/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (1/9) สถาบันมาร์กิตได้เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของยูโรโซน ประจำเดือนสิงหาคม ออกมาทรงตัวที่ระดับ 57.4 เท่ากับเดือนก่อนหน้าและเท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยในเย็นวันพฤหัสบดี (7/9) ธนาคารกลางยุโรปได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0% ตามเดิม พร้อมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายสำหรับเงินฝาก และการปล่อยกู้ไว้ที่ -0.4% และ 0.25% เท่าเดิม ในขณะที่นายมาริโอ ดรากี ยังไม่ได้ส่งสัญญาณในการปรับลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในเร็ว ๆ นี้ ส่งผลให้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1860-1.2088 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (8/9) ที่ระดับ 1.1205/54 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

Advertisment

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (4/9) ที่ระดับ 109.14/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/9) ที่ระดับ 110.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (1/9) ได้มีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 43.3 จากระดับ 43.8 ในเดือนก่อนหน้า ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 43.5 นอกจากนี้ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากข่าวที่ว่า เกาหลีเหนือได้ทดสอบระเบิดไฮโดรเจนที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงเมื่อวานนี้ (3/9) ซึ่งถือเป็นการทดลองนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 นอกจากนี้ในระหว่างสัปดาห์ มาร์กิต/นิกเกาอิรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของญี่ปุ่นร่วงลงสู่ 51.6 ในเดือนสิงหาคม จาก 52.0 ในเดือนกรกฎาคม แต่อย่างไรก็ดี ดัชนีที่อยู่สูงกว่า 50 บ่งชี้ถึงการเติบโต โดยดัชนีอยู่สูงกว่า 50 เป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ส่งผลให้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.70-109.80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (8/9) ที่ระดับ 107.72/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ