ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย หลังตัวเลขเศรษฐกิจแข็งแกร่งกว่าคาด

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 28 สิงหาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/8) ที่ระดับ 30.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากปิดตลาดในวันอังคาร (27/8) ที่ระดับ 30.57/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมา (27/8) มีการเปิดเผยรายงานความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐของคณะกรรมการการประชุม (Conference Board Coustumer Confidence) อยู่ที่ระดับ 135.1 ในเดือนสิงหาคม สูงกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้ที่ 129.5 ด้วยเลขนี้สื่อให้เห็นว่าภาคครัวเรือนยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดแรงงาน แม้ว่าสถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะตึงเครียดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการคาดการณ์ทีี่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งในเดือนหน้า

สำหรับความคืบหน้าของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนนั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐกล่าวในวันจันทร์ (26/8) ว่าเจ้าหน้าที่จีนได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่การค้าของสหรัฐ เพื่อเสนอที่จะกลับเข้าสู่การเจรจาต่อรอง อย่างไรก็ดี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวในวันอังคาร (27/8) ว่าเขาไม่ได้รับรายงานว่ามีการโทรศัพท์หารือกัน พร้อมทั้งนายหู สีจิน บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ ของจีน ได้เขียนข้อความยืนยันว่าคณะการเจรจาทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีการพูดคุยทางโทรศัพท์แต่อย่างใด พร้อมทั้งกล่าวเพิ่มเติมว่าตอนนี้เศรษฐกิจจีนยังคงขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง โดยเกิดจากการเติบโตในประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามทางจีนยังคงให้ความสำคัญในการเจรจาทางการค้า ถึงแม้ว่าการเจรจานี้จะเป็นไปได้ยากหากจีนยังคงถูกกดดันจากทางสหรัฐอยู่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.61-30.69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (28/8) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1080/83 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (27/8) ที่ระดับ 1.1104/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าหลังจากสำนักงานสถิติของรัฐบาลกลางเยอรมนีรายงานในวันอังคาร (27/8) ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีหดตัวลง 0.1% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบรายไตรมาส โดยการหดตัวนี้มีสาเหตุสำคัญมาจากความอ่อนแอของภาคส่งออก นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันจากการคาดการณ์ของนักลงทุนว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ -0.7% ในอีกหนึ่งปีข้างหน้าจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 0.4% และอาจจะดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซน อย่างไรก็ดีการอ่อนค่าของค่าเงินยูโรถูกจำกัดโดยได้รับแรงหนุนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนกันยายนของเยอรมันออกมาทรงตัวที่ระดับ 9.7 ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจเยอรมันจะมีแนวโน้มหดตัว

สำหรับปัจจัยด้านอื่น ๆ นักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์ด้านการเมืองภายในประเทศอิตาลี โดยล่าสุดมีรายงานว่าประเทศอิตาลีอาจจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ และไม่ต้องจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด โดยการเจรจาการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้นในวันนี้ (28/8) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1081-1.1098 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1089/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (28/8) เปิดตลาดที่ระดับ 105.79/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (27/8) ที่ระดับ 105.78/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ยังคงคลุมเครือหลังจากที่จีนออกมาตอบโต้ว่ายังไม่ได้มีการพูดคุยทางการค้าเกิดขึ้น ประกอบกับตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve อีกครั้งในคืนที่ผ่านมา (27/8) โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่สูงกว่าพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้นักลงทุนยังคงถือครองสกุลเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยอยู่ ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.64-105.89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 105.72/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (29/8) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2562 (ประมาณการครั้งที่ 2) ของสหรัฐ (29/8) ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนสิงหาคมของเยอรมนี (29/8) ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (30/8) การใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (30/8) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคมจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐ (30/8) ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนสิงหาคมของยูโรโซน (30/8) ดัชนียอดขายปลีกเดือนกรกฎาคมของญี่ปุ่น (30/8) ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมของญี่ปุ่น (30/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.7/-2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.75/+0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ