“BX” ปิดกระดานบิตคอยน์ เขย่าตลาด “สินทรัพย์ดิจิทัล” ไทย

กลายเป็นข่าวฮือฮาของวงการสินทรัพย์ดิจิทัล หลัง “บริษัท บิทคอยน์ จำกัด” หรือ BX ผู้ประกอบธุรกิจเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เปิดกระดานซื้อขายมานาน 5 ปี และได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนี้อย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ประกาศผ่านเว็บไซต์ “BX.in.th” ในช่วงเช้าวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า

“บริษัทได้ตัดสินใจยุติบทบาทการประกอบธุรกิจเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือการให้บริการด้านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (digital asset wallet) เนื่องจากบริษัทได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาธุรกิจในทางอื่น ๆ แทนการประกอบธุรกิจเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และไม่มีความประสงค์จะต่อใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในปี 2563 อีกต่อไป”

หลังประกาศดังกล่าว ได้ส่งผลให้ราคาเหรียญ (คอยน์) ในตลาด BX ปรับลดลงอย่างรุนแรง มีนักลงทุนที่ตื่นตระหนกเทขายกัน โดยหลายคนเข้าใจว่า “บิทคอยน์” ทั้งโลกเกิดปัญหา แต่เอาเข้าจริงแล้วเป็นเพียงการปิดตัวของบริษัทที่ชื่อ “บิทคอยน์” ในประเทศไทย

โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งเตือนผู้ลงทุนว่า ควรใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากมีผู้ฉวยโอกาสนี้หลอกลวงให้ผู้ลงทุนหลงเชื่อ ว่าเป็นช่องทางของ BX ในการรับโอนเงินหรือสินทรัพย์ดิจิทัล จึงขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลและติดต่อที่เว็บไซต์ BX.in.th โดยตรง

ขณะที่ ก.ล.ต.ได้จัดตั้ง “ศูนย์แนะนำช่วยเหลือผู้ลงทุนเฉพาะกิจ” ซึ่งนักลงทุนสามารถติดต่อได้ที่ Help Center โทร.1207 กด 7 หรืออีเมล์ [email protected] ตลอด 24 ชั่วโมง 70 วัน นับตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย. เป็นต้นไป ซึ่งหลังเปิดศูนย์แนะนำฯ แค่ในวันเดียว มีผู้ลงทุนโทร.เข้ามาแล้วประมาณ 200 ราย ส่วนใหญ่สอบถามเรื่องวิธีการโอนเหรียญ โอนเงิน และการเปลี่ยนศูนย์ซื้อขาย

ทั้งนี้ ก.ล.ต.ชี้แจงกรณีบริษัท BX ว่า เนื่องจากยังไม่ได้ปิดการให้บริการในทันที ดังนั้น จึงต้องใช้ระยะเวลาในการติดตามผลกระทบ อย่างไรก็ดี ก.ล.ต.จะวิเคราะห์เรื่องนี้เปรียบเทียบกับพัฒนาการของตลาดในต่างประเทศ ในส่วนของผลกระทบที่เกิดต่อลูกค้าของ BX จะต้องรับโอนทรัพย์สินมาที่กระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ของตนเอง, exchange รายอื่น หรือสั่งขาย โดยในกรณีที่ลูกค้ามีเงินสดก็สามารถโอนออกไปยังบัญชีของตนเองได้ ซึ่งทาง BX แจ้งว่าจะยังทำธุรกิจจนถึงสิ้นเดือน ก.ย.นี้ โดยหลังจากนั้นจะยังเปิดให้ลูกค้าทำคำสั่งถอนทรัพย์สินได้ตามปกติ

ส่วนขั้นตอนการคืนใบอนุญาต BX จะต้องคืนทรัพย์สินลูกค้าทั้งหมด หรือกรณีมีทรัพย์สินค้าง BX จะต้องวางทรัพย์กับกรมบังคับคดี หรือมีวิธีการจัดการทรัพย์สินของลูกค้าเรียบร้อย จึงสามารถยื่นคำขอเข้าสู่กระบวนการขอเลิกประกอบธุรกิจได้ โดยกระบวนการการคืนสินทรัพย์ต่อลูกค้า บริษัทได้เปิดเผยขั้นตอนต่าง ๆ รวมทั้งให้คำแนะนำลูกค้าไว้บนเว็บไซต์ของบริษัทแล้ว

“ก.ล.ต.ได้กำชับให้บริษัทดูแลทรัพย์สินของลูกค้าและดำเนินการตามความประสงค์ของลูกค้าในการขอรับคืนทรัพย์สินหรือโอนทรัพย์สินให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินการให้ ก.ล.ต.ทราบเป็นระยะ และเมื่อบริษัทได้ทำการคืนทรัพย์สินให้ลูกค้าทั้งหมดหรือบริษัทสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีวิธีการดูแลหรือจัดการทรัพย์สินของลูกค้าที่เหลืออยู่อย่างเรียบร้อย บริษัทจึงจะสามารถเข้าสู่กระบวนการคืนใบอนุญาตต่อ รมว.คลังได้”

โดยระหว่างที่ยังไม่ได้มีการคืนใบอนุญาต ก.ล.ต.ยังมีอำนาจในการกำกับดูแลและสั่งการให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันมีผู้ที่ได้ใบอนุญาตเป็นศูนย์ซื้อขายทั้งสิ้น 3 ราย (รวมบริษัท BX ที่จะเลิกกิจการ) และอยู่ระหว่างรอดำเนินการ 1 ราย และมีผู้ยื่นคำขอใบอนุญาตเป็นศูนย์ซื้อขาย เพิ่มเติมอีก 2 ราย และอยู่ระหว่างรับคำปรึกษาทั้งสิ้น 6 ราย

“กษมพัทธ์ วิธานวัฒนา” กรรมการ สมาคมไทยบล็อกเชน (TBA) และผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีมายน์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด บอกว่า ขณะนี้สมาคมกำลังรวบรวมความคิดเห็น โดยกรณีที่เกิดขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเกิดภาวะตื่นตระหนก และเทขายเหรียญออกมา รวมถึงส่งผลให้ราคาเหรียญปรับลดลงต่ำกว่าความเป็นจริงมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายอื่นในตลาด อาจได้ประโยชน์จากการที่ส่วนแบ่งในตลาดมีมากขึ้น หลัง BX เลิกกิจการ

ขณะที่ “ปรมินทร์ อินโสม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น บอกว่า หลัง BX ประกาศยุติบทบาทการเป็นศูนย์ซื้อขาย ส่งผลให้มีผู้สนใจเข้ามาสมัครสมาชิกศูนย์ซื้อขายของ Satang Pro เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี วอลุ่มการซื้อขายยังไม่ได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนคนที่เข้ามาสมัคร ทั้งนี้ กรณีที่ BX เตรียมปิดกิจการ เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ เพราะจากปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น กฎเกณฑ์จากหน่วยงานควบคุมที่ค่อนข้างเข้มงวด จนส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวและอิสระในการดำเนินงาน ประกอบกับภาวะตลาดขาลงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้รายจ่ายของธุรกิจ exchange สูงกว่ารายได้ที่ได้รับ

นี่เป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่สั่นคลอนวงการสินทรัพย์ดิจิทัลในเมืองไทย เมื่อศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่ต้องปิดฉากลงไป เนื่องจากธุรกิจนี้ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แม้จะมีความพยายามตีกรอบให้เข้าสู่ระบบ มีการกำกับดูแลที่ชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น จึงยังเป็น “ความเสี่ยง” ที่ทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุน ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น