แบงก์ชาติจ่อออก 3 มาตรการสกัด “บาทแข็ง”

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาธปท.และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีความกังวลในเรื่องของการแข็งค่าของเงินบาท และเป็นห่วงค่อนข้างมาก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา 1-3 มาตรการ คาดว่ามาตรการกลุ่มแรกจะออกมาใน 1-2 เดือนข้างหน้า

สำหรับมาตรการกลุ่มแรกที่จะออกมาใน 1-2 เดือนข้างหน้านี้ ธปท.จะทำให้เงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้าและไหลออกเกิดความสมดุลมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าในสภาวะที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็งทางด้านการเงินระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงจะเปิดเสรีให้นักลงทุนไทยทั้งรายบุคคลและนักลงทุนสถาบันไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมีมาตรการยอมให้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถพักเงินในต่างประเทศได้ โดยมีรายได้จากสกุลเงินต่างประเทศ และไม่จำเป็นต้องโอนเงินกลับมาไว้ในประเทศไทย

รวมถึงเปิดให้ผู้ประกอบการ เข้ามาทำธุรกิจด้านเงินตราต่างประเทศและการโอนเงินข้ามประเทศมากขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนการโอนเงินการทำธุรกรรมในประเทศ อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ธปท. ไม่ได้เป็นหน่วยงานเดียวที่กำกับดูแล จะต้องมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

ส่วนมาตรการกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 จะมีต่อมานั้น คือเรื่องของการดูแลเม็ดเงินไหลเข้าไหลออกด้านทองคำ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเงินไหลเข้าไหลออกด้านของทองคำได้เข้ามาสร้างแรงกดดันในเรื่องของค่าเงินบาท ซ้ำเติมค่าเงินบาทที่สภาวะข้างนอกไม่เอื้ออำนวย โดยธปท.จะเข้าไปดูในเรื่องนี้ เพื่อลดแรงกระแทก และไม่ให้มีผลกระทบต่อค่าเงินบาท อย่างไรก็ดี ไม่ใช่วิธีการจำกัด หรือควบคุมการซื้อขายทองคำ

ขณะที่กลุ่มที่ 3 จะเป็นการเข้าไปดูประเด็นเชิงโครงสร้างด้านการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยการออกมาตรการลดการเกินดุลบัญชีสะพัด ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน อาทิ ภาครัฐที่มีหลายโครงการขนาดใหญ่ หากเดินตามแผนที่วางไว้ได้เร็วก็จะส่งผลให้การนำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น 5G สมาร์ทซิตี้ เป็นต้น อย่างไรก็ดี การลงทุนเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องนำเข้าอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญ ซึ่งสามารถใช้โอกาสในภาวะเช่นนี้ส่งเสริมให้เกิดการนำเข้า เพื่อวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล และหากทำมาตรการดังกล่าวที่ว่ามานี้จะทำให้ลดแรงกดดันของค่าเงินบาทได้มากขึ้น

นายวิรไท กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจากปัจจัยภายในประเทศเป็นตัวกำหนด และที่สำคัญมากกว่าคือปัจจัยภายนอกประเทศ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนมีความยืดเยื้อ รวมถึงระบบเศรษฐกิจโลกยังเผชิญกับภาวะความเสี่ยงจากเหตุการณ์ตะวันออกกลาง เป็นต้น ซึ่งภาวะเหล่านี้ส่งผลต่อระบบการเงินและการเมืองของโลก จึงส่งผลกระทบต่อค่าเงินสกุลหลักๆ และส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับสกุลเงินหลัก

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศที่เป็นตัวกำหนด คือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องของไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 6.3 ของจีดีพี ส่งผลให้เงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไทยมากกว่าเงินตราต่างประเทศที่จะต้องใช้จ่ายออกไป พร้อมกันนี้ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกผัวผวน ส่งผลให้การส่งออกในช่วงที่ผ่านมาหดตัว อย่างไรก็ตาม การนำเข้าในช่วงที่ผ่านมานั้นตัวได้ค่อนข้างแรงกว่า จึงส่งผลให้เกิดดุลการค้าและมีการกระตุ้นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง

“ภายใต้ตัวเลขการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของเรายังมีลักษณะพิเศษอีกด้านของระบบเศรษฐกิจไทย คือ มีการส่งออกทองคำในมูลค่าที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในภาวะเช่นนี้ คนก็จะไปลงทุนในทองคำส่งผลให้ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยคนไทยมีการลงทุนในทองคำเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันเมื่อราคาทองคำโลกราคาสูงขึ้นก็จะนำทองขายออกมา ฉะนั้นจึงมีการขายทองคำเป็นจำนวนมาก หากมองจากตัวเลขการส่งออกของไทยนั้น พบว่าในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกทองคำอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงถึง 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เงินตราจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไทย” นายวิรไท กล่าว

ทั้งนี้ ยังปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินคือ มีการลงทุนโดยตรงเข้ามาเพิ่มขึ้นหลายรายการ เป็นการเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ การเข้ามาขยายฐานการผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ในช่วงไตรมาส 3 ปี2562 มีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเทคโอเวอร์ธุรกิจขนาดกลาง ขณะเดียวกันในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานี้ ก็จะเห็นว่ามีบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จึงเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อแรงกดดันของค่าเงินบาทในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานี้