บล.ทิสโก้เปิดชื่อหุ้นจาก 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSP ได้แก่ กลุ่มเกษตร, อาหาร และอิเล็กทรอนิกส์ แต่ยืนยันผลไทยติดหล่ม GSP กระทบต่อภาพรวมภาวะตลาดน้อย ชี้ประเด็นใหญ่กว่าคือเงินบาทแข็งค่ารอบ 6 ปี อาจส่งผลต่อประมาณการเศรษฐกิจไทย และกำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้และปีหน้า
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งระงับการยกเว้นสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สำหรับสินค้าไทยรวม 573 รายการ มูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เริ่มมีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือในวันที่ 25 เม.ย. 2563 นั้น เบื้องต้น กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหลัก คือ กลุ่มเกษตร (AGRI), กลุ่มอาหาร (FOOD) และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) โดยมีกลุ่มหุ้นและรายชื่อหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เช่น หุ้นอาหารทะเลส่งออก ASIAN, CFRESH, CHOTI, CPF, SSF, TC และTU, หุ้นซอสปรุงรส ได้แก่ SAUCE, หุ้นผักและผลไม้ ได้แก่ APURE, CM และ SFP และหุ้นน้ำผลไม้ ได้แก่ MALEE, SAPPE และ TIPCO เป็นต้น
ทั้งนี้ หุ้นในกลุ่ม AGRI และ FOOD ข้างต้นที่อยู่ภายใต้การวิเคราะห์ของ บล.ทิสโก้ คือ MALEE (คำแนะนำ “ขาย” เป้าพื้นฐาน 7 บาท) และ SAPPE (คำแนะนำ “ถือ” เป้าพื้นฐาน 29 บาท) มีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ประมาณ 10% และน้อยกว่า 10% ตามลำดับ ดังนั้น ผลกระทบน่าจะน้อยและค่อนข้างจำกัด
ส่วนหุ้นในกลุ่ม ETRON ที่อยู่ภายใต้การวิเคราะห์ของบล.ทิสโก้มีทั้งสิ้น 4 ตัว คือ DELTA (คำแนะนำ “ซื้อ” เป้าพื้นฐาน 55.5 บาท), HANA (คำแนะนำ “ถือ” เป้าพื้นฐาน 25 บาท), KCE (คำแนะนำ “ขาย” เป้าพื้นฐาน 13.4 บาท) และ SVI (คำแนะนำ “ขาย” เป้าพื้นฐาน 4.26 บาท) นั้น หุ้นที่บล.ทิสโก้เป็นห่วงว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทอาจได้รับผลกระทบการตัด GSP มากที่สุดคือ DELTA และ HANA เพราะมีการส่งออกไปสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูงประมาณ 26% และ 30% ของยอดขายรวม ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ผลกระทบของแต่ละบริษัทจะมากหรือน้อย นอกจากจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงแล้ว ยังขึ้นอยู่กับรายละเอียดสินค้าเชิงลึกของแต่ละบริษัทว่าเข้าข่ายถูกตัด GSP หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด รอการชี้แจงจากบริษัทอีกครั้ง
“สำหรับผลกระทบการตัด GSP ต่อภาวะตลาดโดยรวมนั้น บล.ทิสโก้คาดว่ามีผลกระทบน้อยมาก เนื่องจากหุ้นในกลุ่ม AGRI, กลุ่ม FOOD และกลุ่ม ETRON มีมูลค่าตลาดรวมคิดเป็นเพียง 0.3%, 6.1% และ 0.7% ของมูลค่าตลาดรวมทั้งหมดตามลำดับ จากการประเมินราคาหุ้นในกลุ่ม AGRI, กลุ่ม FOOD และกลุ่ม ETRON ที่เปลี่ยนแปลงไปทุกๆ 1% จะมีผลต่อดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ให้เปลี่ยนแปลงเพียง 0.05 จุด, 0.97 จุด และ 0.12 จุด ตามลำดับ และหากพิจารณาเป็นรายตัวเฉพาะหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบข้างต้น หุ้นที่จะมีผลกระทบต่อ SET Index มากที่สุด คือ CPF, TU และ DELTA โดยราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไปทุกๆ 1% จะมีผลต่อดัชนีหุ้นไทยเปลี่ยนแปลงไปประมาณ 0.21 จุด, 0.06 จุด และ 0.05 จุด ตามลำดับ” นายอภิชาติกล่าว
ทั้งนี้ บล.ทิสโก้มองประเด็นไทยถูกตัด GSP มีผลกระทบน้อยกว่าประเด็นเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งปัจจุบันแข็งค่าหลุดระดับ 30.2 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ไปแล้ว ถือเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี และเป็นความเสี่ยง (Downside Risk) ต่อประมาณการเศรษฐกิจไทย และกำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้และปีหน้า ซึ่งในอนาคตนักวิเคราะห์อาจจะปรับคาดการณ์กำไร และตัวเลขเศรษฐกิจไทยลงได้อีก
ในแง่ของแนวโน้มดัชนีหุ้นไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ บล.ทิสโก้ยังคงมุมมองดัชนีหุ้นไทยไตรมาส 4 มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากแรงขับเคลื่อนด้านสภาพคล่องทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการปรับตัวลงของดัชนีหุ้นไทยในครั้งนี้เป็นจังหวะในการทยอยสะสมสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนเป็นรอบ โดยแนะนำหุ้นที่ได้ประโยชน์จากรัฐบาลกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงปลายปีนี้ ได้แก่ CPALL, BJC, AOT, ERW และ SPA และ หุ้นขนาดใหญ่มีสภาพคล่องซื้อขายสูงที่คาดว่าจะเป็นเป้าลงทุนของเม็ดเงิน LTF และ RMF ไหลเข้า โดยแนะนำหุ้น AOT, BDMS, CPALL, PTT และ SCB แต่สำหรับการเก็งกำไรระยะสั้น เราแนะนำรอดู (Wait & See) เนื่องจากตลาดมีแนวโน้มแกว่งซิกแซกลง รอประเมินความชัดเจนของทิศทางตลาดอีกครั้ง