ธปท.ดีเดย์แบงก์ส่ง DSR พ.ย.นี้เดือนแรก

แบงก์ชาติให้สถาบันการเงินส่งรายงาน DSR เข้ามาเดือน พ.ย.62 เห็นเดือนแรก คาดใช้เวลาประเมินราว 1-2 เดือน พร้อมออกมาตรการดูแลเพิ่มเติมหากมีความเสี่ยงในกลุ่มเปราะบาง

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เริ่มให้สถาบันการเงินส่งรายงานอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ (DSR) เดือน พ.ย.62 เป็นเดือนแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภค โดยชี้ว่าธปท.มีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) หลังจากนั้นจึงขอให้สถาบันการเงินเริ่มทำตัวเลข DSR ซึ่งเป็นตัวเลขที่ชี้ว่าผู้กู้ของแต่ละธนาคารมีภูมิคุ้มกันมากขนาดไหน โดยกำชับให้สถาบันการเงินติดตามตัวเลขดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

หลังสถาบันการเงินเริ่มส่งตัวเลข DSR ให้แก่ธปท.ตั้งแต่เดือน พ.ย.62 เป็นต้นไป ธปท.จะใช้ตัวเลขนี้เพื่อมอนิเตอร์ โดยหัวใจสำคัญที่สุดคือการเข้าไปกำกับดูแลตั้งแต่จุดเริ่มต้น หรือกำกับตั้งแต่สถาบันการเงินว่ามีการดูแลกลุ่มที่เปราะบางมากน้อยขนาดไหน ในช่วงเริ่มต้นธปท.ขอให้สถาบันการเงินเข้ามาร่วมพูดคุยกันว่าการตีความกลุ่มที่เปราะบางของธปท.และสถาบันการเงินมีความเข้าใจที่ตรงกันหรือไม่ รวมถึงมีการตีความภูมิคุ้มกันที่จำเป็นต่อกลุ่มเปราะบางตรงกันหรือไม่

“ตอนนี้เราให้สถาบันการเงินกำกับดูแลด้วยตัวเองไปก่อน ถ้าสมมติว่าเขาทำกันเองได้เราก็ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่ม อย่างไรก็ตาม จะมีหรือไม่มีมาตรการอะไรออกมาควบคุมเพิ่มในอนาคตหรือไม่นั้นยังไม่สามารถบอกได้ในตอนนี้ เพราะจะต้องรอให้เห็นภาพรวม DSR ที่รายงานกันเข้ามาก่อนว่ากลุ่มที่เปราะบางนั้นธปท.จะสามารถกำกับดูแลได้มากแค่ไหน โดยเบื้องต้นมาตรการกำกับดูแลรายแบงก์ (Microprudential) ก็ยังสามารถใช้ได้อยู่” นายธาริฑธิ์ กล่าว

นายธาริฑธิ์ กล่าวว่า ธปท.จะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน เพื่อพิจารณาภาพรวมของ DSR ที่สถาบันการเงินรายงานเข้ามาว่ามีสัดส่วนมากหรือน้อยในกลุ่มใดบ้าง หาก DSR ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ธปท.ก็ไม่มีความจำเป็นต้องกังวลหรือต้องออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม ส่วน DSR ของสินเชื่อรถยนต์ที่เคยมีแผนจะทำตอนนี้ชะลอลงก่อน เนื่องจากสินเชื่อรถยนต์มีการชะลอตัวจากยอดขายรถยนต์ที่ชะลอลงแล้วเช่นกัน

ด้านสินเชื่อเงินทอน ธปท.ได้เข้าไปตรวจสอบรายธนาคารที่พบว่ามีข่องโหว่วแล้ว (Operational Risk) เช่น มีปัญหาในการประเมินราคากลาง เป็นต้น และได้แจ้งต่อธนาคารให้ดำเนินการแก้ไข ซึ่งธนาคารก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

Advertisment