“ATM สีขาว” ตัวช่วย…แบงก์ไทย ลดต้นทุนเฉียด 3 หมื่นล้านบาท/ปี

การผลักดันให้เกิดความร่วมมือ “เอทีเอ็มสีขาว” (white label ATM) ยังคงถูกยกเป็น “agenda” ที่สำคัญของทางสมาคมธนาคารไทยในปี 2563 นี้

โดยปีนี้จะเป็นปีที่ “ปรีดี ดาวฉาย” หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้ จะนั่งเก้าอี้ประธานสมาคมในสมัยที่ 2 เป็นปีสุดท้าย ซึ่งพูดถึงแผนปีนี้ว่าจะผลักดันเอทีเอ็มสีขาวต่อ โดยมีโมเดลที่ศึกษาและสรุปไว้แล้ว 2 โมเดลด้วยกัน

โมเดลแรก เปิดให้มีผู้รับซื้อ (vender) เข้ามาซื้อเครื่องเอทีเอ็มของ 4 ธนาคารใหญ่ จากนั้นธนาคารจะเข้ามาใช้บริการเอทีเอ็ม โดยต้องเสียค่าบริการ ส่วนอีกโมเดล คือ เอทีเอ็มยังเป็นของแต่ละธนาคาร แต่ให้ vender มาช่วยบริหารจัดการให้ โดยคิดค่าบริหารจัดการ

“เอทีเอ็มสีขาวมีแนวโน้มว่าจะเกิดได้ แต่ยังไม่รู้เวลาที่แน่ชัด แต่มีโอกาสเห็นแน่นอน โดยการดำเนินการจะต้องมีขนาดใหญ่พอสมควร (scale) จึงจะมีต้นทุนที่ถูกลง เช่น มีเอทีเอ็มร่วมกัน 5,000 ตู้ แต่หากมีธนาคารเข้าร่วมเยอะเป็น 8,000 ตู้ ต้นทุนก็จะถูกลงอีก ซึ่งตอนนี้มีธนาคารสนใจจะร่วมทำจนจะถึง scale ที่ทำได้แล้ว” นายปรีดีกล่าว

อย่างไรก็ดี ประธานสมาคมธนาคารไทยยอมรับว่า การตัดสินใจเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความคิดมุมมองของผู้บริหารแต่ละธนาคารที่จะต้องคิดและตัดสินใจ ซึ่งทางสมาคมต้องการให้เป็นความสมัครใจ

Advertisment

โดยอาจจะจับเป็นกลุ่ม ไม่จำเป็นต้องทุกธนาคารก็ได้ เหมือนอย่างที่ธนาคารออมสินจับมือกับทางธนาคารกสิกรไทยไปก่อนหน้านี้

ชี้ตู้เอทีเอ็มกระจุกตัว-ทับซ้อน

ล่าสุดมีผลศึกษาที่น่าสนใจจากทาง “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี” (TMB Analytics) โดย “นริศ สถาผลเดชา” ผู้บริหาร TMB Analytics เปิดเผยว่า ทีเอ็มบีได้ศึกษาข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีตู้เอทีเอ็มทั้งสิ้นกว่า 53,800 เครื่อง แบ่งเป็น ในกรุงเทพฯ 28,600 เครื่อง คิดเป็นสัดส่วนราว 68% และต่างจังหวัด 32% หรือราว 13,300 เครื่อง โดยประมาณ 70% หรือราว 42,000 เครื่อง วางในจุด “ทับซ้อนกัน” หรือในรัศมีแค่ 1 กิโลเมตร มีตู้เอทีเอ็มถึง 3 เครื่อง โดยเฉพาะบริเวณสยามสแควร์ที่ทับซ้อนมากที่สุด มีเอทีเอ็มกว่า 150 เครื่อง ซึ่งหากเทียบกับต่างจังหวัดพบว่า ตู้เอทีเอ็มกระจุกตัวจนเข้าถึงยาก โดยจุดที่มีตู้เอทีเอ็มใกล้สุดมีระยะห่างเฉลี่ยที่ 5 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับ 10 กิโลเมตร เพื่อทำธุรกรรมการเงิน

ตจว. 10 ล้านคนเข้าไม่ถึงเอทีเอ็ม

Advertisment

“ต่างจังหวัด ประชากรเข้าไม่ถึงเอทีเอ็มกว่า 10 ล้านคน ในกว่า 18,000 ชุมชน อย่างเช่น ในตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ที่มีประชากร 17,000 คน ต้องเดินทางราว 2 ชั่วโมง เพื่อไปใช้เอทีเอ็มที่ใกล้สุดราว 30 กิโลเมตร” นายนริศกล่าว

นอกจากนี้ แต่ละปีมีปริมาณธุรกรรมเอทีเอ็มเกิดขึ้น 1,081 ล้านครั้ง/ปี คิดเป็นค่าธรรมเนียมสูงถึง 22,000 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น การโอนเงินข้ามเขต/ธนาคารสูงถึง 128 ล้านครั้ง/ปี คิดเป็นค่าธรรมเนียม 3,000 ล้านบาท/ปี และถอนเงินข้ามเขต/ธนาคารอยู่ที่ 953 ล้านครั้ง/ปี คิดเป็นค่าธรรมเนียม 19,000 ล้านบาท เทียบได้เท่ากับมูลค่ายอดซื้อกองทุน LTF/RMF ทั้งปีของคนไทยเลยทีเดียว

“ดังนั้นหากสามารถผลักดันให้เกิดโครงการตู้เอทีเอ็มสีขาว จะช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินเพิ่มขึ้น 10 เท่า จำนวนชุมชนที่ห่างจากเอทีเอ็มเกิน 0.5 กิโลเมตร ที่มีอยู่ 42,000 ชุมชน ก็จะเหลือเพียง 7,000 ชุมชน และระยะทางเฉลี่ยจากชุมชนถึงตู้เอทีเอ็มที่ใกล้ที่สุดจาก 3 กิโลเมตร จะเหลือแค่ 0.3 กิโลเมตร” นายนริศกล่าว

แนะตั้งหน่วยงานกลางบริหาร

อย่างไรก็ดี โครงการตู้เอทีเอ็มสีขาว มีอุปสรรคก็คือ จะต้องหาโมเดลในการบริหารจัดการที่ยุติธรรมและเป็นธรรม เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบ/เสียเปรียบกัน ซึ่งก็มีตัวอย่างประเทศแคนาดาที่จัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมา โดยเช่าเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารมาบริหารจัดการ จากนั้นธนาคารจะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับองค์กรกลางดังกล่าวเมื่อมีลูกค้าแบงก์ตนเองใช้งานเอทีเอ็ม ถือว่าเป็นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการมีหน่วยงานกลาง (consortium) ขึ้นมา ก็น่าจะตอบโจทย์ได้ดี

ลดต้นทุน 2.85 หมื่นล้านบ./ปี

“นริศ” กล่าวว่า หากผลักดันให้ความร่วมมือเรื่องตู้เอทีเอ็มสีขาวเกิดขึ้นได้ นอกจากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินของคนไทย ยังช่วยประหยัดต้นทุนค่าบริหารจัดการได้สูงถึง 28,500 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น ค่าต้นทุนค่าเช่าที่ที่ธนาคารต้องเสียประมาณ 8,500 ล้านบาทต่อปี และต้นทุนบริหารจัดการเงินสด เช่น การใช้คนเติมเงิน ขนส่งเงิน เป็นต้น อีกราว 20,000 ล้านบาทต่อปี

ที่สุดแล้ว หากโมเดลที่ออกมาสามารถตอบโจทย์ให้ทุกแบงก์ “win-win” ได้ ก็คงไม่มีแบงก์ไหนปฏิเสธที่จะร่วมโครงการนี้