ค่าเงินบาท​อยู่​ที่​ 31.15 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหว​กรอบ​ 31.10-31.25​ บาท/ดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดการเงินและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ เปิดเผย​ว่า​ ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้​ (14​ ก.พ.)​ ที่ระดับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ อ่อนค่าลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.12 บาทจาก​ต่อ​ตลาดเงิน​ดอลลาร์​ โดย​กรอบวันนี้​อยู่​ที่​ 31.10-31.25 บาท​ต่อดอลลาร์

ทั้งนี้​ ในช่วงคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) เนื่องจากไม่มีประเด็นใหม่ที่น่าสนใจเข้ามาในตลาด นักลงทุนจึงขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อรอดูสถานการณ์ เห็นได้จากอัตรา​ผลตอบแทน​พันธบัตร​ (บอนด์ยีลด์)​ สหรัฐอายุ 10 ปีที่ปรับตัวลงแตะระดับ 1.6% อีกครั้ง

ขณะที่ดัชนี S&P500 ของสหรัฐก็ย่อตัวลง 0.16% พร้อมกับ Euro Stoxx50 ของยุโรปที่ปรับตัวลง 0.20% และเงินดอลลาร์แทบไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอย่างเยนและยูโร

สำหรับวันนี้เชื่อว่าตลาดจะซื้อขายในกรอบที่แคบลงบ้าง ขณะที่ในสัปดาห์หน้า จะมีประเด็นเศรษฐกิจเข้ามากระทบตลาดการเงินไทยและค่าเงินบาทมากขึ้น

โดย​เรื่องที่น่าสนใจ ก็มีทั้งการรายงานจีดีพีไตรมาสสี่ปี 2019 ของไทยในวันจันทร์ที่ 17​ ก.พ. คาดว่าจะขยายตัว 2.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือคิดเป็น 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สาม ส่งผลให้ทั้งปี 2019 จีดีพีขยายตัวราว 2.4% จากปี 2018 ที่โตได้ถึง 4.1%

“แม้ตลาดจะรับข่าวการชะลอตัวไปส่วนใหญ่แล้ว แต่เชื่อว่าถ้าเศรษฐกิจขยายตัวน้อยกว่าที่ประเมิน เงินบาทก็อาจอ่อนค่าได้อีกครั้ง เพราะเศรษฐกิจกำลังจะต้องพบกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่จะเข้ามาซ้ำเติมในไตรมาสแรก” ด​ร.จิ​ติ​พล​กล่าว​

ส่วนในฝั่งสหรัฐ ก็จะมีการรายงานผลการประชุมธนาคารกลาง (FOMC Minutes) ครั้งล่าสุดในวันพุธที่ 19 ก.พ. ซึ่งคาดว่าจะเป็นการยืนยันว่าเฟดจะใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในกรณีที่วิกฤตเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันสหรัฐก็ยังมีเศรษฐกิจที่แข็งแรงมาก ซึ่งจะหนุนทั้งตลาดหุ้นและค่าเงินดอลลาร์ให้ทรงตัวได้

ด้าน​ตลาดการเงินไทย ในสัปดาห์ที่ผ่านมาสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่ามีอาการซึมจากปัญหาไวรัสระบาด โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยไปแล้วราว 807 ล้านดอลลาร์ แม้ยังซื้อสุทธิบอนด์ไทย 497 ล้านดอลลาร์ แต่ค่าเงินบาทก็แกว่งตัวเร็วขึ้นเนื่องจากสภาพคล่องในตลาดอยู่ในระดับต่ำ

ส่วน​ในระยะถัดไป คาดว่าทิศทางของเศรษฐกิจและนโยบายการเงินในประเทศ จะลดบทบาทลงและไม่ได้เป็นเรื่องที่นักลงทุนใช้ในการตัดสินตลาดการเงินไทย แต่ต้องจับตาภาพรวมการเปิดรับความเสี่ยงโลก (Risk Sentiment) ว่าจะฟื้นตัวขึ้นหรือไม่ แค่ไหน ผสมกับความเคลื่อนไหวของข่าวไวรัสโควิด-19 ซึ่งถ้าตลาดยังคงมีความกังวลอยู่ แม้จะกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) ก็อาจเลือกลงทุนในฝั่งสหรัฐหรือยุโรปมากกว่าเอเชีย แต่ในทางกลับกับ ถ้าตลาดพลิกปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) ก็อาจเลือกพักเงินที่ดอลลาร์มากกว่าเงินหยวน เยน หรือบาทด้วย