ออมสิน หวั่นไวรัสกระทบยอดสินเชื่อต่ำเป้า 2 หมื่นล้าน

ธนาคารออมสินหวั่นไวรัสกระทบยอดสินเชื่อปีนี้ต่ำเป้า2หมื่นล้านบาท ส่วนมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเข้าโครงการพักชำระหนี้เบื้องต้นเข้ามา 10-30% ของจำนวนลูกค้าสินเชื่อทั้งหมด 11 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวม 2.2 ล้านล้านบาท และโครงการรีไฟแนนซ์สินเชื่อบัตรเครดิตมีผู้ยื่นขอในโครงการแล้ว 30,000 ราย คิดเป็นวงเงิน 3,000 ล้านบาท ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ชณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเพื่ออนุมัติ รวมถึงปรับแบบฟอร์มการยื่นขอผ่านเว็บไซต์ออมสินให้ง่ายขึ้นด้วย

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ปีนี้ธนาคารประเมินผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อสุทธิต่ำกว่าเป้า 20,000 ล้านบาท ตามปกติแล้วธนาคารจะมีการปล่อยสินเชื่อหมุนเวียนประมาณ 300,000 ล้านบาท และในปีนี้ตั้งเป้าหมายว่าจะมียอดสินเชื่อเพิ่มสุทธิสิ้นปีที่ 80,000 ล้านบาท แต่เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ทำให้ธนาคารประเมินว่ายอดสินเชื่อเพิ่มสุทธิสิ้นปีน่าจะลดลงเหลือแค่ 60,000 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ธนาคารได้วิเคราะห์ผลกระทบไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจไทย 3 เดือน หรือกระทบต่อจีดีพีราว 0.4% แต่วันนี้อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยถึง 6 เดือน หรือกระทบต่อจีดีพีราว 1% คิดเป็นประมาณ 170,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารออมสินตั้งเป้าสินเชื่อเติบโตเท่ากับ 1.5 เท่าของจีดีพี หรือเติบโตประมาณ 4.5-5% แต่เมื่อจีดีพีลดต่ำจาก 3-3.5% ลงมาเหลือ 2-2.4% ทำให้การเติบโตของสินเชื่อของธนาคารปรับตัวลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตามในส่วนการรับมือกรณีเลวร้ายที่สุด(Worst Case) หากการแพร่ระบาดของไวรัสส่งผลกระทบถึงขั้นปิดพื้นที่ (Shut down) เบื้องต้นธนาคารได้เตรียมและซักซ้อมแผนธุรกิจต่อเนื่อง(BCP) ในกรณีดังกล่าวไว้พร้อมแล้ว โดยธนาคารจะอาศัยการบริหารจัดการด้วยระบบไอที ซึ่งธนาคารมีศูนย์คอมพิวเตอร์อยู่ประมาณ 3-4 แห่งใหญ่ โดยมีอาคารสำรองที่สำนักงานใหญ่ 2 อาคาร ที่ศูนย์พิบูลสงคราม และที่ศูนย์สาทร หากในกรณีเกิดโรคระบาดรุนแรงจำเป็นต้องดูแลคนในศูนย์คอมพิวเตอร์เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามปัจจุบันผู้ใช้บริการของธนาคาร 86% ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทรานแซกชั่น และมีเพียง 14% เท่านั้นที่ยังเป็นระบบปกติ (Manual) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด

“เรามีการซักซ้อมแผน BCP ที่เป็นการดำเนินธุรกิจภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นกรณีเกิดการจลาจล ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง หรือดอกเบี้ยลดกระทันหันมาแล้ว แต่กรณีเกิดวิกฤตโรคระบาดยังไม่เคยซักซ้อมในเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันได้เตรียมระบบและอยู่หว่างการประชุมคณะทำงานภายในเพื่อป้องกันและซักซ้อมตามแผนเมื่อเกิดเหตุขั้นเลวร้ายดังกล่าวจะได้ดำเนินการตามแผนได้ทันที”

Advertisment

ทางด้านมาตรการช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบนั้น ธนาคารได้ออกมาตรการพักการชำระเงินต้น 2 ปี คืนดอกเบี้ยให้ลูกค้า 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระ และระยะเวลาการชำระหนี้ไม่เกิน 4 ปี คาดว่าเบื้องต้นจะมีลูกค้าเข้าโครงการนี้ราว 10-30% ของจำนวนลูกค้าสินเชื่อของธนาคารที่มีทั้งหมด 11 ล้านราย เป็นวงเงินสินเชื่อรวม 2.2 ล้านล้านบาท

หากลูกค้าสินเชื่อเข้าโครงการช่วยเหลือดังกล่าว 10% จะคิดเป็นลูกค้าสินเชื่อราว 1.1 ล้านราย หรือเป็นวงเงินสินเชื่อราว 110,000 ล้านบาท  แต่หากลูกค้าเข้าโครงการมากถึง 30% ของจำนวนลูกค้าสินเชื่อทั้งหมด จะถือว่าเป็นขั้นที่เป็นปัญหารุนแรง ล่าสุดจนถึง 13 มี.ค.นี้ มีลูกค้าเข้ามาตรการดังกล่าวของธนาคารแล้ว 8,954 ราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 3,400 ล้านบาท

สำหรับโครงการ Soft loan วงเงิน 150,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการนั้น โดยธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ ดอกเบี้ย 0.01% และธนาคารพาณิชย์ปล่อยให้ลูกค้าดอกเบี้ย 2% ช่วง 2 ปีแรก โดยปล่อยกู้ต่อรายไม่เกิน 20 ล้านบาท ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้แบ่งโควต้าสินเชื่อในโครงการนี้ให้กับธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง

ในส่วนโครงการช่วยเหลือผู้ที่เป็นหนี้บัตรเครดิต โดยธนาคารได้ทำโครงการรีไฟแนนซ์สินเชื่อบัตรเครดิตดอกเบี้ยเพียง 8.5% ต่อปี ปัจจุบันมีผู้ยื่นขอในโครงการแล้ว 30,000 ราย คิดเป็นวงเงิน 3,000 ล้านบาท ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา และขณะนี้ธนาคารยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่ออนุมัติ รวมถึงจะมีการปรับแบบฟอร์มการยื่นขอผ่านเว็บไซต์ออมสินให้ง่ายขึ้นด้วย

Advertisment

นอกจากนี้ด้านคุณภาพหนี้ ธนาคารยังคงระวังการปล่อยสินเชื่อและมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ที่ออกมาดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งน่าจะทำให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ของธนาคารในปีนี้ไม่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันเอ็นพีแอลของธนาคารอยู่ที่ 2.9% ซึ่งในช่วงต้นปีอยู่ที่ระดับ 3% และช่วงปลายปีจะลดเหลือที่ระดับ 2.6-2.7% ซึ่งอยู่ในระดับนี้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา