“คลัง-ธปท.-ก.ล.ต.” แท็กทีมอัดฉีดสภาพคล่อง 1 ล้านล้านบาทรับมือประชาชนแห่ไถ่ถอน”กองทุนตราสารหนี้”

“คลัง-ธปท.-ก.ล.ต.” แท็กทีมอุ้มตลาดบอนด์ รับมือประชาชนแห่ไถ่ถอน”กองทุนตราสารหนี้”มากผิดปกติ   ธปท.ประกาศอัดฉีดสภาพคล่องผ่านแบงก์พาณิชย์ 1 ล้านล้านบาทสร้างความเชื่อมั่น ชี้การไถ่ถอนก่อนกำหนดทำให้เสียประโยชน์  พร้อมตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องระดมทุนหุ้นกู้ 1แสนล้าน  ชงบอร์ดแบงก์ชาติ 23 มี.ค.นี้

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในการแถลงข่าวร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง ธปท.และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถึงมาตรการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า กระทรวงการคลัง ธปท. และ ก.ล.ต.ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง และเห็นควรออกมาตรการสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทย ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงินขยายผลต่อไป โดยตอนนี้บางช่วงเวลาเริ่มเห็นความผันผวนของราคาสินทรัพย์ค่อนข้างมาก หรือ spread ที่คนเสนอซื้อขายสินทรัพย์ต่างๆ ราคาจะต่างกันมาก สะท้อนถึงกลไกลตลาดที่ทำงานไม่ได้สอดคล้องกับสภาวะปกติ

โดยผู้ถือหน่วยลงทุนบางคนกังวลและเร่งไถ่ถอนหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตราสารหนี้บางกอง ทำให้ต้องเร่งขายสินทรัพย์ที่เป็นคุณภาพดี มีอับดับเครดิตเรทติ้งที่ดี ต้องเร่งขายออกมาในช่วงสั้นๆ พร้อมกันๆ จำนวนมาก ในช่วงที่ตลาดค่อนข้างจะบาง(มีสภาพคล่องจำกัด) ก็จะส่งผลกระทบกับมูลค่าของหน่วยลงทุน(NAV) และทำให้เกิดปัญหาของสภาพคล่องหรือตลาดที่บางอยู่แแล้วยิ่งบางลงไปอีก ทางหน่วยกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องจึงเกิดความกังวลว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้จะได้รับผลกระทบต่อมูลค่าหน่วยลงทุนที่จะยิ่งลดลง ซึ่งอาจสร้างความกังวลให้ไปเร่งไถ่ถอนหน่วยลงทุน โดยมีมาตรการลดความกังวลของผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวประกอบด้วยการดำเนินงานใน 3 ด้านดังต่อไปนี้

@@ ตั้งกลไกพิเศษอัดสภาพคล่องผ่านแบงก์ 1 ล้านล้านบาท

1. มาตรการกองทุนรวมตราสารหนี้ ธปท.จะจัดตั้งกลไกพิเศษเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนรวมผ่านธนาคารพาณิชย์(แบงก์) โดยธนาคารจะสามารถเข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund: MMF) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily fixed income fund) ที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี แต่อาจจะได้รับผลกระทบชั่วคราวจากการที่ตลาดการเงินขาดสภาพคล่อง ธนาคารสามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวมาวางเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท.ได้ โดยจะดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์ในตลาดการเงินจะเข้าสู่ภาวะปกติ จากการประมาณการเบื้องต้นพบว่า มีกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์คุณภาพดีที่สามารถนำมาวางเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท.ได้ มีมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท

“เป็นกลไกลใหม่ที่เราจัดตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อให้แแน่ใจว่ามีสภาพคล่องที่ส่งผ่านไปสู่ตลาดการเงิน โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้” นายวิรไทกล่าว

ซึ่งมาตการนี้จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) ของธปท.ในวันพรุ่งนี้(23 มี.ค.) เพื่อให้มีผผลบังคับตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.63 อย่างไรก็ดีธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าซื้อหน่วยลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ได้ตั้งแต่พรุ่งนี้เลย และเริ่มเข้ามาขอสภาพคล่องตั้งแต่วันอังคารเป็นต้นไป

@@ ตั้ง “กองทุนเสริมสภาพคล่องระดมทุนหุ้นกู้” วงเงิน 1 แสนล้านบาท

2. มาตรการตราสารหนี้ภาคเอกชน(หุ้นกู้) ที่ครบกำหนด ซึ่งในภาวะปกติหุ้นกู้เหล่านั้นสามารถที่จะต่ออายุ (rollover) ได้ไม่ยาก แต่ภาวะตลาดบางมีสภาพคล่องจำกัดขณะนี้ ทางสมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน ธุรกิจประกันภัย และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ร่วมกันจัดตั้ง “กองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้” วงเงินเริ่มต้น 70,000-100,000 ล้านบาท เบื้องต้นมีผู้แจ้งความจำนงที่จะเข้าร่วมแล้ว 8 หมื่นล้านบาทคือ สมาคมธนาคารไทยลงขัน 4 หมื่นล้านบาท, ธนาคารออมสินลงขัน 2 หมื่นล้านบาท, ธุรกิจประกันชีวิตลงขัน 1 หมื่นล้านบาท, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ลงขัน 1 หมื่นล้านบาท

โดยกองทุนนี้จะทำหน้าที่เวลาที่ตราสารหนี้ภาคเอกชนที่คุณภาพดีครบกำหนดและจะต้องมีการ rollover ซึ่งปกติต้องไประดมทุนในตลาด ถ้าเกินระดมทุนได้ไม่ครบจากตลาด กองทุนนี้จะเข้าไปเสริมส่วนที่ขาดหรือเข้าไปท็อปอัพ(Top-up) เพื่อให้ผู้ออกหุ้นกู้เอกชนสามารถที่จะ rollover ได้ ซึ่งจะเป็นเงินระยะสั้นอายุไม่เกิน 270 วัน

“กองทุนนี้จะทำหน้าที่ Top Up หากมีหุ้นกู้ครบกำหนด และไประดมทุนในตลาดแล้วไม่ครบตามจำนวน เช่น หุ้นกู้ครบกำหนด 1,000 ล้านบาท แต่ระดมทุนได้เพียง 800 ล้านบาท ก็นำมาใช้กองทุนนี้ได้ โดยหุ้นกู้ที่จะนำมาจะต้องเป็นหุ้นกู้ระยะสั้นไม่ 270 วัน”

ซึ่งขณะนี้สามารถเลือกผู้จัดการกองทุนได้แล้ว คาดว่ากองทุนนี้จะสามารถดำเนินการได้ภายใน 1 อาทิตย์ ซึ่งน่าจะทันกับสถานการณ์ เนื่องจากจะมีหุ้นกู้ทยอยครบกำหนดในไตรมาส 2/63 จำนวนมาก ทั้งนี้ ธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

3.มาตรการตราสารหนี้ภาครัฐ ธปท.พร้อมที่จะดูแลให้กลไกตลาดตราสารหนี้ภาครัฐทำงานได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และมีสภาพคล่องเพียงพอ ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

“มาตรการเหล่านี้จะเสริมสภาพคล่องของตลาดการเงินและช่วยให้กลไกตลาดตราสารหนี้กลับมาทำงานได้อย่างปกติท่ามกลางภาวะตลาดการเงินโลกที่ผันผวน และจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตราสารหนี้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จะร่วมกันติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะร่วมมือในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดการเงินทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” นายวิรไท กล่าว

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาพรวมกองทุนรวมตราสารหนี้ภาคเอกชนที่เป็นกองทุนรวมเปิด (Daily fixed income fund) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านล้านบาท จำนวน 68 กอง ส่วนใหญ่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลกว่า 60% และอีก 40% ลงทุนในหุ้นกู้ Investment Grade ระดับ A ขึ้นไปมากถึง 80%

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ตอนนี้ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงินร่วมมือกันในการแก้ปัญหา โดยในภาคสถาบันการเงินไม่ได้มีปัญหา เนื่องจากธนาคารรักษาสมดุลระหว่างเงินฝากและสภาพคล่องในระบบให้ประชาชนได้ใช้บริการอย่างทั่วถึง ทั้งในส่วนของเอทีเอ็ม และสาขา แม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเกิดระยะสั้นหรือยาว แต่ระบบการเงินจะไม่สะดุด โดยมีแผนไปประชุมร่วมกับภาครัฐในการหาแนวทางช่วยเหลือผลกระทบจากปัญหาไวรัสโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้