แบงก์อัพไอทีรับมือโควิดป่วน การันตีธุรกรรมการเงินไม่ล่ม

แบงก์แห่อัพเกรดโมบายแบงกิ้งรับมือธุรกรรมการเงินออนไลน์พุ่ง ขานรับนโยบาย ธปท. รับมือไวรัสโควิด-19 คนไม่ออกจากบ้าน “กสิกรฯ-กรุงเทพ-ไทยพาณิชย์” การันตีไม่มีสะดุด-พร้อมรองรับธุรกรรมสุดพีก ฟาก “ไอทีเอ็มเอ็กซ์” เพิ่มขีดความสามารถฯระบบกลางชำระเงิน 2 เท่ารองรับธุรกรรมสูงสุด 15 ล้านรายการต่อวัน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำชับให้สถาบันการเงินให้บริการทางการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ให้มีการปิดระบบการเงิน พร้อมมีนโยบายให้สถาบันการเงินส่งเสริมให้ลูกค้าใช้งานธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกทุกธนาคารได้มีการวางแผนการให้บริการที่ต่อเนื่อง เพื่อรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น จึงขอให้มั่นใจว่าธนาคารจะสามารถให้บริการลูกค้าและผู้มาใช้บริการตามปกติในทุกช่องทาง โดยเฉพาะบริการหลัก เช่น การรับฝากเงิน การถอนเงิน การโอนเงิน และบริการสินเชื่อต่าง ๆ รวมถึงการช่วยเหลือลูกค้าเพื่อเสริมสภาพคล่อง สำหรับการให้บริการเงินสดสำหรับลูกค้าที่มีความจำป็นต้องใช้เงินสด ทุกธนาคารมีการเตรียมเงินสดเพื่อรองรับให้เพียงพอทุกช่องทาง ทั้งสาขาและตู้เอทีเอ็ม

กสิกรฯชี้รับธุรกรรมพีก 3 เท่า

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้วางกรอบการรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามแนวทางของธนาคารกสิรกรไทย และ ธปท. โดยจะมีแผนรับมือในเรื่องระบบไอที และการให้บริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของธุรกรรมผ่านสาขา เอทีเอ็ม และโมบายแบงกิ้ง โดยเฉพาะธุรกรรมบนโมบายแบงกิ้งแอปพลิเคชั่น K PLUS บริษัทได้เพิ่มศักยภาพการรองรับธุรกรรม (capacity) ไว้รองรับธุรกรรมสูงสุด 3 เท่าของธุรกรรมสูงสุด โดยได้เตรียมแผนรับมือการรองรับการทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ไว้หมดแล้ว โดยเฉพาะธุรกรรมบนโมบายแบงกิ้ง K PLUS ที่คาดว่าจะมียอดการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนไม่ไปสาขา หรือเอทีเอ็มน้อย ทั้งนี้ ธุรกรรมทางการเงินที่ทำผ่าน K PLUS ส่วนใหญ่จะเป็นการโอนเงิน การเติมเงิน จ่าย-ชำระค่าสินค้าและบริการ รวมถึงการถอนเงินโดยไม่ใช้บัตร

“จากปัญหาโควิด-19 เราเชื่อว่าแนวโน้มธุรกรรมจะเพิ่มขึ้นอีก จึงได้เตรียมระบบไว้พร้อมแล้ว และแม้ลูกค้าจะโยกการทำธุรกรรมจากสาขาและเอทีเอ็มมาทั้งหมด เราก็เชื่อว่าจะรองรับได้” นายเรืองโรจน์กล่าว

บัวหลวงทำแผนรับธุรกรรมพุ่ง

นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ภายใต้แผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ หรือ BCP (business continuity planning) ธนาคารเตรียมความพร้อมทางด้านระบบไอที และการรองรับปริมาณการทำธุรกรรมบนออนไลน์ โดยมีหน่วยงานดูแลโดยเฉพาะในการขยายขีดความสามารถในการรองรับ (capacity) เพื่อให้ระบบไม่สะดุดหรือล่ม และมีทีม contact center ที่มีการแบ่งทีมงานให้สามารถทำงานรองรับตลอดเวลา และแผนปฏิบัติการทางด้านศูนย์สำรองเงินสดที่จะต้องเตรียมความพร้อม ทั้งทางด้านการขนส่ง การเติมเงิน เพื่อให้มั่นใจว่ามีเงินสดเต็มที่จุดบริการเอทีเอ็ม รองรับการเบิกถอนของลูกค้าและประชาชนหากเกิดกรณีฉุกเฉิน ซึ่งธนาคารมี capacity planning ที่สามารถรองรับปริมาณธุรกรรมการเงินออนไลน์ล่วงหน้า 5 ปี

ทั้งนี้ ปริมาณธุรกรรมที่คาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจัยโควิด-19 จะเป็นเรื่องของการโอนเงินและชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากคนไม่ได้เดินทางไปข้างนอก และจากมาตรการทำงานที่บ้าน (work fromhome) ทำให้ธุรกรรมการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อธุรกรรมการโอนเงินที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการโอนเงินภายในธนาคารและข้ามธนาคาร โดยเฉพาะธุรกรรมการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยทั้งหมดนี้ธนาคารมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องไอที ระบบการทำธุรกรรมการเงินโดยเฉพาะ และมีทั้งแผนเชิงปฏิบัติและทดสอบระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้การทำธุรกรรมไม่สะดุด

TMB-SCB พร้อมรับมือ

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า เพื่อให้มั่นใจว่าระบบจะไม่สะดุดหากเกิดเหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 รุนแรงขึ้น ธนาคารได้ซื้อบริการระบบหลัก (main frame) จากไอบีเอ็ม เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณธุรกรรมที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงแอปพลิเคชั่น TMB TOUCH ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการลดฟีเจอร์ที่จะดึงให้ระบบหรือกินพื้นที่ รวมถึงลดฟีเจอร์ที่ทำให้แอปทำงานช้าลงด้วย เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้สะดวกรวดเร็วขึ้น

ขณะที่นายปวเรศ หวังดี ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสายงาน Retail Digital และรักษาการผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงาน Digital Platforms ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวในเรื่องนี้ว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งที่อาจจะมากขึ้น ธนาคารจึงได้เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการทำธุรกรรมผ่าน SCB EASY ให้ได้ถึง 5,000 ธุรกรรมต่อวินาที เพื่อรองรับการให้บริการที่ให้เป็นไปอย่างราบรื่นไม่สะดุด โดยปัจจุบันยอดธุรกรรมผ่าน SCB EASY เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 135 ล้านรายการต่อเดือน เป็นการโอนเงิน 75% ชำระเงิน 10% กดเงินไม่ใช้บัตร 8% และเติมเงิน 7%

ITMX ขยายเพิ่ม 2 เท่า

นางสาววรรณา นพอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ จำกัด (ITMX) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้เพิ่มความสามารถระบบกลางการชำระเงินในการรองรับการทำธุรกรรมการเงิน เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของปริมาณธุรกรรมสูงสุด โดยจากการสำรวจพบว่า ปริมาณธุรกรรมสูงสุดอยู่ที่เกือบ 15 ล้านรายการต่อวัน อย่างไรก็ดี ขีดความสามารถในการรองรับเพิ่งใช้ไปเพียง 35% เท่านั้น จึงยังสามารถรองรับได้อีกถึง 65% ดังนั้น บริษัทมั่นใจว่าความสามารถของระบบที่มีอยู่สามารถรองรับการทำธุรกรรมการรับโอนเงินรูปแบบใหม่ หรือพร้อมเพย์ ที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นได้

“จากปัจจัยปัญหาเรื่องไวรัสโควิด-19 และการทำงานที่บ้าน (work from home) ทำให้คนไปสาขาและทำธุรกรรมผ่านเอทีเอ็มน้อยลงได้ โดยปัจจุบันปริมาณการทำธุรกรรมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10 ล้านรายการต่อวัน จากเดิมเฉลี่ย 6-7 ล้านรายการต่อวัน ระบบสามารถรองรับได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้การทำธุรกรรมการเงินสะดุด จึงมีแผน BCP ไว้รองรับ หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น โดยแบ่งทีมทำงานเป็น 2 ทีม และกระจายการทำงาน 2 ศูนย์ใหญ่ ได้แก่ แจ้งวัฒนะ และพระราม 3 ซึ่งจะมีการดูแลมอนิเตอร์การทำธุรกรรมและระบบทุกวันอย่างใกล้ชิด” นางสาววรรณากล่าว