ธปท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้าต่ำสุดตั้งแต่ปี 58 ชี้โควิด-19 ทุบกำลังซื้อ-ยอดขายลดฮวบ

ธปท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนมีนาคม 2563 ปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 42.6 จากเดือนก่อนอยู่ที่ 44.1 ชี้ เป็นการลดลงจากภาคที่มิใช่การผลิตเป็นสำคัญ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ลดลงจากเดือนก่อนอยู่ที่ 43.6 เป็นครั้งแรกที่ดัชนีฯ ต่ำกว่า 50 นับตั้งแต่ปี 2558 จากความกังวลการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนมีนาคม 2563 โดยดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ 44.1 มาอยู่ที่ 42.6 จากภาคที่มิใช่การผลิตเป็นสำคัญ นำโดยกลุ่มขนส่งที่มีความเชื่อมั่นด้านค่ำสั่งซื้อและผลประกอบการลดลงมาก ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการจ้างงานลดลงด้วย ขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์มีความเชื่อมั่นลดลงตามการตัดสินใจซื้อ อสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอลงจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นด้านปริมาณการก่อสร้างลดลงเช่นกัน ส่วนกลุ่มโรงแรมและบริการด้านอาหาร ยังคงมีความเชื่อมั่นลดลงและอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

ส่วนดัชนีฯ ของภาคการผลิตค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนความเชื่อมั่นที่แย่ลง แม้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบของผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเริ่มคลี่คลาย ทำให้ความเชื่อมั่นด้านการผลิตกลับมาปรับเพิ่มขึ้น แต่พบว่า กลุ่มผลิตยานยนต์มีความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อและการผลิตลดลงมาก สะท้อนความกังวลต่อความสามารถในการซื้อสินค้าราคาสูงของผู้บริโภค รวมทั้งกลุ่มผลิตอาหารที่มีความเชื่อมั่นลดลงจากต้นทุนที่สูงขึ้น คาดว่าส่วนหนึ่งจากปัญหาภัยแล้ง

ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯ ลดลงจากเดือนก่อนสู่ระดับ 43.6 ซึ่งเป็นการลดลงต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก.ค. ปี 2558 และลดลงในทุก sector จากความกังวลเรื่องสถานการณ์ การระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เป็นวงกว้างมากขึ้นและมีแนวโน้ม ยืดเยื้อ โดยเฉพาะกลุ่มขนส่งและกลุ่มที่พักแรมและร้านอาหารที่ คาดว่ายอดจองจากทั้งในและต่างประเทศในระยะข้างหน้าจะลดลงมาก ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการและการจ้างงานลดลงมาก เช่นกัน สะท้อนว่าอาจมีการลดการจ้างงานในอนาคต เช่นเดียวกับ ภาคการค้าที่มีความกังวลต่อปริมาณการค้าและผลประกอบการ ในระยะข้างหน้า ส่วนหนึ่งจากการปิดห้างสรรพสินค้าและพื้นที่เสี่ยง ทำให้การบริโภคจะจำกัดอยู่เพียงสินค้าจำเป็นเท่านั้น

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นด้านอื่นๆ โดยความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการของธุรกิจที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันส่งผลให้ธุรกิจขาดสภาพคล่องมากขึ้น โดยธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่ประสบปัญหาการได้รับวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ที่ไม่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ ภาคธุรกิจเห็นว่าความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจเป็นข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นมากจากการระบาดของไวรัส COVID-19 เมื่อประกอบกับกำลังซื้อในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ ทำให้การปรับราคาสินค้ายังคงทำได้ยาก สอดคล้องกับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอีก 12 เดือนข้างหน้าที่ปรับลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.5