มหาวิกฤตเศรษฐกิจในรอบ 90 ปี (1)

คอลัมน์ ลงทุนทั่วโลก
โดย สุรศักดิ์ ธรรมโม บลจ.วรรณ

2 เดือนก่อนหน้านี้ผมได้เตือนถึงผลกระทบของโควิด-19 ไปแล้ว ในบทความนี้ขอชี้ให้เห็นชัดว่า ผลกระทบของโควิด-19 ในด้านเศรษฐกิจ คือ ปีนี้ทั่วโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแรงจากเศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์ (กำลังซื้อหายไปฉับพลันจากมาตรการคุมโรค) และด้านอุปทาน (การผลิตหยุดชะงักจากมาตรการคุมโรคเช่นกัน)

ภาคธุรกิจ ประชาชนจะประสบปัญหาเงินสดตึงตัว (cash crunch) และจะนำไปสู่ปัญหาสินเชื่อตึงตัว (credit crunch) และส่งผลลบกลับไปที่ภาคธุรกิจและประชาชน วนกลับไปมาที่สถาบันการเงินย้อนกลับไปกลับมาแต่ละรอบที่ผลกระทบสะท้อนกลับไปมายิ่งทำให้เศรษฐกิจทรุดหนักถ้าภาครัฐและธนาคารกลางไม่เข้ามาหยุดยั้งวงจรป้อนกลับเชิงลบนี้ (negative feedback loop)

มหาวิกฤตนี้แตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ ในรอบ 90 ปี ไม่เพียงแต่ครั้งนี้จะรุนแรงที่สุดหากแต่ต้นเหตุของวิกฤตมิใช่วิกฤตภาคการเงิน (financial crisis) เหมือนปี 2008 หรือวิกฤตหนี้สินสาธารณะภาครัฐแบบวิกฤตหนี้สินสาธารณะกลุ่มประเทศยูโรโซน (European debt crisis) ในปี 2010 หรือวิกฤตอัตราแลกเปลี่ยน และตามมาด้วยวิกฤตการเงินไทยในปี 1997

มหาวิกฤตในปี 2020 เกิดจากไวรัส SARS-CoV-2 ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ หยุดชะงักโดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจจริง ทำให้กระแสเงินสดที่เคยเป็นกระดูกสันหลังของระบบธุรกิจอยู่ในภาวะ cash crunch เพราะมาตรการคุมโรคระบาดที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกใช้กันเป็นมาตรการที่รุนแรงและเข้มงวดมาก ทำให้คนต้องอยู่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่ กำลังซื้อหายไป (อุปสงค์ชะงักอย่างแรง) ภาคการผลิตชะลอการผลิต (อุปทานได้รับผลกระทบแรง) ธุรกิจต่าง ๆ ขาดแคลนเงินสด ไม่มีลูกค้า

ขณะที่ภาคการผลิตเมื่อไม่มีลูกค้าและถูกจำกัดกิจกรรมการผลิต เพราะต้องดำเนินการตามมาตรการคุมโรค การปลดคนงานและไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ยธนาคาร เงินเดือนลูกจ้างและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้น ยิ่งใช้เวลายาวนานเท่าไหร่ในการคุมโรค เศรษฐกิจจริงจะหดตัวลงแรง และในที่สุดผลกระทบลบจะไปสู่สถาบันการเงินและตลาดการเงินของประเทศนั้น ๆ ถ้าธนาคารกลางและรัฐบาลประเทศนั้น ๆ ไม่รีบเข้ามาช่วยเหลือด้วยมาตรการการเงินและการคลังที่มีขนาดใหญ่พอ ผลคือสถาบันการเงินที่ซ่อมแซมตัวเองกว่า 10 ปีที่ผ่านมาจากวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 จนมีทุนที่แข็งแกร่ง จะเผชิญปัญหาหนี้เสียพุ่งทะยาน

ดังนั้น สถาบันการเงินจะลดวงเงินสินเชื่อและเรียกสินเชื่อคืนเพื่อมิให้หนี้เสียเพิ่มขึ้น และหลีกเลี่ยงการต้องเพิ่มทุน เกิดภาวะ credit crunch ในระบบการเงินโลกซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ดิ่งลงกว่าเดิม เมื่อบริษัทห้างร้านกว่า 30% ของประเทศล้มละลาย สถาบันการเงินหลายแห่งจะต้องล้มตามไปด้วย และผลลบจะย้อนกลับมาทำลายธุรกิจที่ดี สถาบันการเงินที่ดี และตลาดการเงินที่เข้มแข็งให้พังทลายลงไปด้วยจากการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้จำนวนมาก การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารคุณภาพดี และบริษัทจดทะเบียนกว่า 40% ของมูลค่าตลาดทุนขึ้นไปจะรายงานผลประกอบการขาดทุน