“แม่ทัพออมสิน” ปรับแผนธุรกิจหลังโควิด งัดบริการ-ผลิตภัณฑ์-ทักษะ รองรับเทคโนโลยี

ในงานสัมมนา “Leadership in covid crisis management” ซึ่งจัดโดยคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านทางแอปพลิเคชั่น ZOOM เมื่อวันจันทร์ที่ 27 เม.ย.63 ที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในหลักสูตรออนไลน์บริหารธุรกิจเร่งรัดพิชิตโควิด เรียน 14 วันจบ” ซึ่งหนึ่งในวิทยากรคนสำคัญคือ “ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย” นิสิตปริญญาโท MBA จุฬาฯ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน” คนที่ 16

Q : ช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีอะไรอยากจะเตือนหรือให้คนไทยเตรียมการรับมือทั้งด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ

นายชาติชาย เปิดเผยว่า ผลกระทบของไวรัสโควิด-19 แตกต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 2540 โดยวิกฤตที่ผ่านมามีการดูแลแก้ไขปัญหาได้ไม่ดีนัก อย่างธนาคารพาณิชย์ก็ปิดตัวลงไปหลายๆแห่ง ธนาคารส่วนใหญ่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่ต่ำกว่า 50% และกว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงนั้นให้กลับมาดีขึ้นได้ต้องใช้เวลากว่า 4-5 ปี

ส่วนไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจต่างได้รับการร่วมแรงร่วมใจจากภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาดูแล รวมทั้งสถาบันการเงินทุกแห่งด้วย อย่างเช่น ธนาคารออมสิน ก็ได้พยายามดูแลลูกค้า ทั้งในส่วนบุคคลธรรมดา และธุรกิจ ไม่ให้มีสถานะเป็น NPL ด้วยการออกมาตรการพักชำระหนี้ ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น อัตโนมัตินาน 6 เดือน เพื่อเป็นการให้โอกาสลูกค้าของธนาคารออมสินสามารถเดินหน้าไปต่อได้หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งธนาคารยอมเสียรายได้จากมาตรการดังกล่าวถึง 1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยลูกค้ากว่า 20 ล้านราย

อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว การดำเนินธุรกิจต่างๆ ไม่เฉพาะธนาคารออมสิน ในระยะต่อไปอีก 6 เดือนจะต้องมีการปรับเปลี่ยนและเตรียมรับมือกับรูปแบบธุรกิจที่อาจจะเปลี่ยนไป โดยในส่วนแรกจะต้องมีการวางแผนธุรกิจให้มีความยืดหยุ่น และต้องมีการปรับตัว เนื่องจากเมื่อไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย ธุรกิจออนไลน์จะต้องเข้ามาแทนที่การประกอบธุรกิจรูปแบบปัจจุบัน

“ธนาคารออมสินเองก็มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า เนื่องจากวิกฤตในปี 2540 ได้สอนให้มีการเตรียมตัว หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย โดยธนาคารได้เตรียมการจากการถูกดิสรัปชั่น โดยเป็นการเตรียมหารายได้ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา ส่วนในเรื่องของค่าใช้จ่ายนั้น หากสามารถลดทอนได้ก็ลดลง และส่วนที่สำคัญคือการดูแลพนักงาน ธนาคารจะพยายามประคับประคองให้สามารถอยู่รอดได้ทุกฝ่าย” นายชาติชาย กล่าว

นอกจากนี้ ก็จะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย ทั้งการทำออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ เดลิเวอรี่ เซอร์วิส เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการเตรียมการขายไว้ทุกช่องทาง และมุ่งเน้นหาสินค้าและบริการเสริม พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย และพยายามดูแลลูกค้าเก่าให้ดี เพื่อที่จะได้เสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้า และจะได้รับอานิสงค์มีลูกค้าเพิ่มตามมาด้วย

พร้อมกันนี้ ปัญหาหลักๆ คือการดูแลสภาพคล่อง เพราะหลายครั้งที่ประสบกับวิกฤตซึ่งไม่มีใครคาดคิด ผู้ที่เตรียมตัวจะผ่านไปได้ ทั้งบุคคลธรรมดา และธุรกิจ ฉะนั้น อย่างน้อยธุรกิจจะต้องมีการเตรียมทุนรองรับค่าใช้จ่ายในช่วง 6 เดือนได้ รวมทั้งการหาสิ่งที่จะเข้ามาช่วงเติมสภาพคล่องด้วย ก็ควรที่จะเตรียมไว้ และจะต้องเสริมช่องทางการขายให้มากขึ้น อย่างเช่น ธนาคารออมสิน ก็มีการเตรียมไว้หลายช่องทาง ทั้งโมบายแบงก์กิ้ง อินเทอร์เน็ต และอื่นๆ เพื่อที่จะไม่พยายามพึ่งพิงธุรกิจอื่นเป็นตัวแรก ซึ่งจะช่วยให้สามารถรักษาสภาพธุรกิจได้

Q : ผู้นำควรทิ้งทักษะไหนที่ตัวเองเคยมีและควรหาทักษะไหนเพื่อจะพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น

ผู้อำนวยการออมสินคนที่ 16 ตอบว่า อย่างแรกเลยคืออาจจะต้องมีการปรับแผนองค์กรก่อน เนื่องจากอาจจะไม่เหมาะสมกับการทำธุรกิจในยุคต่อไป โดยภาพลักษณ์ขององค์กรจะต้องสอดรับกับธุรกิจ จะต้องออกผลิตภัณฑ์และการบริการรูปแบบใหม่ เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้า และจะต้องเพิ่มทักษะให้รองรับเทคโนโลยีใหม่ เพื่อดูแลความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น และสร้างองค์กรให้มีความน่าเชื่อถือ โดยผู้บริหารซึ่งเป็นผู้นำ จะต้องเปิดใจฟังให้มากและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่

“เช่น ธนาคารออมสิน ที่ผ่านมาธนาคารปล่อยสินเชื่อให้กับรายย่อย ปีละ 1 ล้านราย ขณะที่ปัจจุบันนี้รัฐบาลขอให้ปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือประชาชน วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ให้รายละไม่เกิน 10,000 บาท และปล่อยสินเชื่อ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ให้รายละไม่เกิน 50,000 บาท หรือคิดเป็นปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนรวมกว่า 2.5 ล้านคน ซึ่งธนาคารออมสินมีเวลา 2 เดือนในการปรับเปลี่ยนวิธีการให้รองรับความต้องการของลูกค้า ด้วยการใช้วิธีการขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ ซึ่งก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการออกผลิตภัณฑ์ และปัญหาของประเทศไทย ยังใช้ความรู้เดิมๆ ไม่มีบิ๊กดาต้า หรือไม่สามารถนำข้อมูลจากองค์กรอื่นมาใช้ได้ โดยเงื่อนไขไม่เอื้อต่อการบริหารจัดการ ก็จะต้องเรียนรู้ และมีการวิเคราะห์ข้อมูลอยู่ตลอดเวลา เพื่อใช้ในการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อ” นายชาติชาย กล่าว

นอกจากนี้จะต้องพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน (Sustainable) โดยธนาคารออมสินก็มีการพัฒนาอยู่ระดับหนึ่ง ซึ่งมี 4 อย่างสำคัญ ได้แก่ 1) ความมั่นคงในฐานะทางการเงิน โดยจะต้องมีความสามารถในการหารายได้ เพื่อสะสมทุนไว้ มีความมั่นคงถาวร 2) ดูแลพนักงาน องค์กร ผู้ถือหุ้น ลูกค้าประชาชน หากไม่ดูแลทุกส่วนงานจะไม่สำเร็จ

 3) ติดตามเศรษฐกิจ สังคม และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และ 4) มีธรรมาภิบาล เพื่อให้องค์กรเดินต่อไปได้ ส่วนทักษะใหม่ๆ ก็ต้องมีการเรียนรู้ ทั้งไอที ภาษา อื่นๆ

ทั้งนี้ ในช่วงที่กำลังเผชิญอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 จะต้องใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส ระหว่างนี้ก็จะต้องมีการปรับปรุงเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะสามารถทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ และจะต้องมีการขยายธุรกิจให้กว้างขวาง อย่างธนาคารออมสิน ได้มีการลงทุนในธุรกิจฟินเทค และอื่นๆ แล้วกว่า 30 แห่ง และยังมีที่ค้างอยู่ในท่ออีก 30 แห่ง ซึ่งจะเป็นรายได้เข้ามาเสริมธุรกิจในอนาคต

“ออมสินอยู่เคียงข้างประชาชนมาตลอด 107 ปี วิกฤติครั้งนี้ ไม่มีเห็นผลที่เราจะไม่ช่วยประชาชน”