เบรนท์ปรับลดลงต่อจากการขายทำกำไร ขณะเวสต์เท็กซัสปรับเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังลด

– ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเมื่อวานอีกราวร้อยละ 1 จากการขายทำกำไรของนักลงทุนและการผลิตน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ

+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ประกาศตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 22 ก.ย. ปรับตัวลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลง 3.4 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้การปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ามันในสหรัฐฯ หลังได้รับผลกระทบจากพายุ Harvey ในช่วงที่ผ่านมา

+ กำลังการกลั่นน้ำมันของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น โดยคิดเป็นร้อยละ 88.6 ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งเป็นกำลังการผลิตที่สูงสุดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์พายุ Harvey ในวันที่ 25 ส.ค.

– อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนักเนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ปรับเพิ่มขึ้น 9.55 ล้านบาร์เรลต่อวันจาก 9.51 ล้านบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา และปริมาณการส่องออกของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอีก 563,000 บาร์เรลต่อวัน มาแตะระดับสูงสุดที่ 1.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่ EIA ได้ทำการบันทึกมา

Advertisment

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวเนื่องในวันชาติจีน

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนจากความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการส่งออกน้ำมันดีเซลจากทางภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลางไปยังตะวันตกได้ อย่างไรก็ดีอุปทานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ บางส่วนกลับมาดำเนินการผลิตตามปกติ

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Advertisment

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังปริมาณการผลิตและการนำเข้าน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ โรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ยังคงปิดดำเนินการกว่า 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 14.2 ของกำลังการผลิต โดยในสัปดาห์ล่าสุด EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.ย. 60 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 4.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 472.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันกว่า 3 สัปดาห์ติดต่อกันและสูงกว่าตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล

การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นและส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงกว่า 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.ย. 60 ปรับเพิ่มขึ้นกลับมาสู่ระดับเดิมก่อนเกิดพายุ Harvey ที่ระดับ 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดปริมาณการผลิตในเดือน ธ.ค. จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยการเพิ่มขึ้นของแหล่งผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกคาดจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังกลุ่มผู้ผลิตยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง โดยล่าสุดในเดือน ส.ค. ผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มความร่วมมือขึ้นมาจาก 85% มาอยู่ที่ 94% ในขณะที่ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มความร่วมมือมาสู่ระดับ 119% ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 100% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการปรับลดกำลังการผลิตมา นอกจากนี้ยังต้องจับตาการหารือระหว่างกลุ่มผู้ผลิตว่าจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมโดยการขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตจากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 61 หรือมีการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากเดิมที่ได้ตกลงกันไว้ว่าจะปรับลดลง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือไม่