“บรรยง” แจงฟื้นฟูการบินไทยตามกฎหมายล้มละลาย-ไม่ใช่ปล่อยเจ๊ง

จากกรณีที่มีข้อเสนอของที่ปรึกษาการเงินให้ บมจ.การบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายล้มละลาย ทำให้มีการตีความว่าจะปล่อยให้การบินไทยล้มหายตายจากไปนั้น นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารธนาคารเกียรตินาคิน โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2653 ระบุว่า

“โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง…… การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลายนั้น ยังไม่ ใช่การปล่อย หรือการยอมล้มละลายนะครับ

มันเป็นกระบวนการ เพื่อให้ Stakeholders ทั้งหลาย อันได้แก่ ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งมีและไม่มีหลักประกัน รวมไปถึงพนักงาน ได้มาร่วมตกลงกัน ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยมีเป้าหมายแค่สองเป้า คือ 1.พยายามรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจ (economic value) ของกิจการให้มีมากที่สุด ซึ่งในกรณีทั่วไปนั้น มูลค่าจะมากกว่าถ้าให้กิจการยังดำเนินธุรกิจต่อเนื่องไปได้ ย่อมมีค่ามากกว่าแบ่งขายทรัพย์สินมาก

กับ 2.แบ่งปันมูลค่านั้นให้แก่ Stakeholder ทั้งหลายได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งตามหลักสากล ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับสิทธิก่อน ถัดไปก็เป็นเจ้าหนี้มีประกัน และตามด้วยเจ้าหนี้ไม่มีประกัน เหลือจึงจะเป็นของผู้ถือหุ้น แต่ใครจะได้เมื่อไหร่ เท่าใดก็เป็นเรื่องที่จะต้องใช้กระบวนการตกลงกัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องพึ่งศาล แต่ถ้าเดินต่อไม่ได้จนศาลสั่งให้ล้มละลาย ถึงจะชำระบัญชี จำหน่ายทรัพย์สิน แล้วมาแบ่งกันตามลำดับกฎหมาย

ในการจะฟื้นฟูกิจการ ส่วนมากจำเป็นที่จะต้องใช้เงินเพิ่มเพื่อให้ดำเนินการต่อได้ (เพื่อ economic value ที่มากกว่านั่นแหละครับ) ดังนั้นคนที่ใส่เงินเพิ่มจึงมักจะมีอำนาจต่อรองสูงกว่า เช่น อาจจะเป็นเจ้าหนี้ที่ลำดับชั้นสูงกว่า มีสิทธิ์ได้คืนก่อนเมื่อกิจการปกติ หรือได้ก่อนแม้สุดท้ายต้องชำระบัญชี หรือมีสิทธิ์เปลี่ยนหนี้เป็นหุ้นถ้ากิจการดี เป็นต้น

สายการบินชั้นนำของโลกที่มีปัญหา เคยเข้าสู่กระบวนการนี้จำนวนมาก

– Pan Am ที่เคยใหญ่ที่สุดในโลก TWA ของอเมริกัน เข้า Chapter11 แล้วไปไม่รอด ล้มละลายไปนานแล้ว

– UNITED ที่ 2019 มีกำไรเกือบแสนล้านบาท ก็เคยเข้า Chapter11 ถึงสองครั้งและกลับมาแข็งแกร่งได้อีก (ครั้งหนึ่งใช้โอกาสนั้นลดประโยชน์อดีตพนักงานทั้งบำนาญมหาศาลทั้งสิทธิ์บินฟรีจนหมด…อันนี้น่าสนใจนะครับ)

– Swiss Air เคยฟื้นฟูจนกลับมาได้เป็นสายการบินแห่งชาติสวิสที่ Lufthansa ถือหุ้น 100% แล้วคนสวิสที่อยากถือก็ไปซื้อหุ้น Lufthansa ได้

-JAL เจ๊งจนต้องไปตามคุณปู่อินาโมริมาแก้จนกลับมาแข็งแกร่ง ปีที่แล้วกำไรสามหมื่นล้าน

-MAS ที่โชคร้ายปีเดียวเครื่องตกไปสองลำ ก็ต้องฟื้นฟูใหญ่ เข้าซบรัฐบาล (ซึ่งรัฐยอมให้เงินโดยซื้อเครื่องบินออกไปแล้วลีสกลับให้ถูกๆ)

อย่าไปกลัว อย่าไปอายกระบวนการฟื้นฟูอย่างนี้เลยครับ มันไม่ใช่การปล่อยล้มละลายอย่างที่สื่อบางรายเข้าใจผิด เอาไปโหมประโคม

แต่ถ้าใส่เงินไปเฉยๆ โดยที่ไม่ได้ผ่าตัดใหญ่ มันก็จะล้มละลายจริงในเร็ววันแหละครับ นอกจากล้มละลายแล้ว เงินที่ใส่มันก็จะละลายไปหมดเหมือนเทน้ำพริกใส่แม่น้ำด้วยครับ