ธปท.ขึงแนวปฏิบัติซอฟต์โลน จี้แบงก์จ่ายค่าโอน-จดจำนอง

ธปท.ร่อนหนังสือแจ้ง “แบงก์-แบงก์รัฐ” ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม “จดทะเบียนสิทธิ-นิติกรรมจำนองหลักประกัน” แทนลูกค้าในการปล่อยกู้ซอฟต์โลน ตีกรอบต้องเขียนเป็นข้อตกลงไว้อย่างชัดเจนในสัญญา-เพื่อช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก “โควิด-19” ย้ำห้ามแบงก์เรียกเก็บค่าฟีเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศหนังสือเวียนแจ้งถึงธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง เรื่องแนวปฏิบัติในการรับยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมจำนองหลักประกัน อันเนื่องมาจากการให้สินเชื่อตามมาตรการในพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563

โดยมีแนวปฏิบัติที่กำหนดให้สถาบันการเงินเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุด และการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจจากการให้สินเชื่อซอฟต์โลนตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว ทั้งนี้ สถาบันการเงินจะต้องระบุข้อตกลงดังกล่าวในสัญญากู้ยืมเงิน และ/หรือสัญญาจำนอง และ/หรือสัญญาหลักประกันทางธุรกิจให้ชัดเจนไปเลยว่าจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมดังกล่าวเอง และกำหนดให้สถาบันการเงินยื่นเอกสารแบบยืนยันการขอรับซอฟต์โลนที่ ธปท.เป็นผู้ออกให้ พร้อมกับการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการจำนอง

รายงานข่าวแจ้งว่า ปกติค่าธรรมเนียมการโอนจะมีอัตราอยู่ที่ 2% ของราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะที่ค่าจดจำนองมีอัตราอยู่ที่ 1% ของมูลค่าที่จำนองหรือยอดเงินกู้ทั้งหมด และอากรแสตมป์จะอยู่ที่ 0.5% ของราคาซื้อขาย อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนลดค่าธรรมเนียมการโอนเหลือ 0.01% และลดค่าจดจำนองเหลือ 0.01% เป็นการชั่วคราว

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า หนังสือเวียนที่ ธปท.ประกาศดังกล่าวเป็นการประกาศรายละเอียดเพิ่มเติม ในรายละเอียดเรื่องค่าใช้จ่ายการจดจำนอง โดยเป็นการย้ำว่าสถาบันการเงินห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเหล่านี้เพิ่ม และเป็นการแจ้งให้ทราบว่าสัญญาการจดจำนองดังกล่าวทำเพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 จากเดิมกรมที่ดินอาจจะไม่ทราบรายละเอียดเพราะปกติเวลาทำธุรกรรมลักษณะนี้สถาบันการเงินจะเป็นผู้ดำเนินการแทนลูกค้า

“เป็นเรื่องเดิมที่ธนาคารได้รับทราบอยู่แล้ว แต่มีรายละเอียดเป็นแนวปฏิบัติให้ชัดเจนขึ้นว่าการจดจำนองไม่มีค่าใช้จ่าย และห้ามเก็บค่าฟีเพิ่มเติมเพราะสัญญานี้เป็นการช่วยเหลือลูกค้าจากผลกระทบโควิด-19” นายสุรัตน์กล่าว