ธปท.ผ่อนเกณฑ์ ‘ซอฟต์โลน’ แบงก์ลุ้นรัฐดึง บสย.ช่วยค้ำ

ธุรกิจ SMEs
แฟ้มภาพ

ธปท.จ่อปรับเกณฑ์ปล่อยกู้ซอฟต์โลน หลังเพิ่งอนุมัติไปได้แค่ 8 หมื่นล้านบาท แบงก์ลุ้นรัฐดึง บสย.ช่วยค้ำประกันหลังปีที่ 2 เป็นต้นไป/ค้ำวงเงินส่วนเกินจาก 20% ชี้หากไม่ปรับเงื่อนไขความเสี่ยงน่าจะมีแบงก์ใช้ซอฟต์โลนไม่เกิน 1-2 แสนล้านบาท

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ธปท.จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์กระบวนการ และวิธีปฏิบัติ เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท ทำได้ง่ายและคล่องตัวขึ้น หลังจากที่ผ่านมายังปล่อยสินเชื่อได้ค่อนข้างช้า ล่าสุด เว็บไซต์ ธปท. รายงาน ณ วันที่ 15 มิ.ย. 2563 มีการอนุมัติสินเชื่อไป 82,701 ล้านบาท เป็นจำนวนผู้ได้รับซอฟต์โลน 51,991 ราย

นอกจากนี้ ในกรณีที่ธุรกิจเอสเอ็มอีที่พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งมาตรการจะครบในเดือน ต.ค. 2563 นี้ ธปท.ได้ให้แบงก์พูดคุยเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เป็นรายกรณี

“เรามีการยกดอกยกต้น 6 เดือน จนถึงสิ้นเดือน ต.ค. ก็ทำให้ลูกหนี้กลุ่มเอสเอ็มอียังมีฐานะจัดชั้นปกติอยู่ แต่เราไม่ได้นิ่งนอนใจ สถานการณ์เหล่านั้นต้องดูให้ชัด ในเรื่องของ stress test ลูกหนี้กลุ่มนี้ ว่าหลังจากพักต้นพักดอกเบี้ยครบ 6 เดือนแล้ว แต่ละสถาบันการเงินก็ต้องไปคุยกับลูกหนี้เป็นรายตัว ซึ่งเราได้มีการหารือกับฝ่ายจัดการของสถาบันการเงินในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว” นายรณดลกล่าว

ขณะที่ล่าสุด ธปท.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติมระยะที่ 2 ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่องจากมาตรการขั้นต่ำ และมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 1 ที่จะทยอยครบกำหนดตั้งแต่สิ้นเดือน มิ.ย.นี้ โดยชุดใหม่นี้จะคำนึงผลกระทบลูกหนี้เป็นตัวตั้ง

Advertisment

“มาตรการเฟส 2 นี้ จะให้ลูกหนี้มีทางเลือกว่า จะใช้มาตรการช่วยเหลือระดับใด บางกลุ่มไม่กระทบอาจเลือกจ่ายปกติ บางกลุ่มกระทบชั่วคราว สามารถพักชำระหนี้ได้ หรืออีกกลุ่มที่ไปไม่ไหว คือ เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้ลูกหนี้ ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่ไม่ได้ดูลูกหนี้เป็นตัวตั้ง และสิ่งที่เน้น คือ ธนาคารจะต้องจัดทำทางเลือกให้เหมาะสมกับสินเชื่อแต่ละประเภท โดยจะต้องมีข้อมูลเปรียบเทียบภาระชำระหนี้ใหม่และภาระเก่าให้ลูกหนี้ได้ตัดสินใจได้”

นายรณดลกล่าวว่า หากลูกค้าเข้าร่วมโครงการระยะที่ 2 แล้วยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารจะต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยเพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้เป็นรูปธรรมจับต้องได้มากขึ้น ธปท.ได้ให้ธนาคารรายงานความคืบหน้าการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกค้า ภายในเดือน ก.ค.นี้

“มาตรการเฟส 1 และ 2 เป็นเพียงการเยียวยาชั่วคราว เพื่อดูแลสภาพคล่องระยะถัดไป ธปท. และ แบงก์ จะต้องหามาตรการฟื้นฟูช่วยเหลือเสริมรายได้ เป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้การชำระหนี้สอดรับกับรายได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ หลังจากมาตรการเยียวยาจบลง” นายรณดลกล่าว

ทั้งนี้ มาตรการระยะที่ 2 จะเปิดให้ลูกหนี้สามารถแสดงความจำนงเข้าร่วมมาตรการได้ระหว่างวันที่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค. 2563 ซึ่งมีรายละเอียด ได้แก่ 1.การปรับลดดอกเบี้ย 2-4% เป็นการทั่วไป โดยบัตรเครดิตจาก 18% เหลือ 16% สินเชื่อส่วนบุคคล จาก 28% กรณีบัตรกดเงินสดเหลือ 25% และกรณีสินเชื่อผ่อนชำระเหลือ 25% และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเหลือ 24% และ 2.การเพิ่มวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลให้กับลูกค้าที่มีประวัติชำระดี ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท จากเดิม 1.5 เท่า เป็น 2 เท่าของรายได้เป็นการชั่วคราวไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564

Advertisment

และ 3.มาตรการขั้นต่ำเพิ่มเติม เช่น กรณีการแปลงหนี้บัตรเครดิตเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 เดือน ให้คิดดอกเบี้ยที่ 12% ส่วนบัตรกดเงินสดที่แปลงเป็นสินเชื่อระยะยาว ให้คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 22% สินเชื่อที่ชำระเป็นงวดและจำนำทะเบียน ให้ลดค่างวด 30% คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 22% และสินเชื่อเช่าซื้อไม่จำกัดวงเงิน ให้เลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้อีก 3 เดือน หรือปรับลดค่างวดขยายเวลาชำระหนี้

นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่เดิมกำหนดบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท ปรับใหม่เป็นไม่จำกัดราคาบ้าน โดยจะมี 3 แนวทางให้ลูกหนี้เลือก ได้แก่ 1.เลื่อนการชำระเงินต้น-ดอกเบี้ย เป็นเวลา 3 เดือน 2.เลื่อนชำระเงินต้น 3 เดือนและลดดอกเบี้ยตามความเหมาะสม และ 3.ลดค่างวดและขยายเวลาการชำระหนี้

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า ธปท.ได้มีการหารือกับธนาคารพาณิชย์ให้มีการช่วยเหลือลูกหนี้ดี ที่มีประวัติชำระดีต่อเนื่อง เพื่อสร้างแรงจูงใจ กระตุ้นให้เป็นลูกหนี้ดีต่อไปในระยะข้างหน้า อาทิ การลดดอกเบี้ย การให้รางวัลเป็นบัตรกำนัล (voucher) การให้เงินคืนกลับเข้าบัญชี (cashback) เป็นต้น ซึ่งไม่ได้เป็นมาตรการบังคับ แต่ให้พิจารณาตามความเหมาะสมกับลูกหนี้ของธนาคารแต่ละแห่ง

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินกล่าวว่าแบงก์ได้เสนอให้ ธปท.ปรับเงื่อนไขซอฟต์โลน โดยเพิ่มการป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่ปล่อยสินเชื่อแล้วเกิดความเสียหาย ด้วยการดึงบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันช่วงหลังจากพ้น 2 ปีไปแล้ว หรือค้ำประกันวงเงินส่วนที่เกินกว่า 20% เป็นต้น เพื่อช่วยลดข้อกังวลของแบงก์

“ตอนนี้แบงก์กลัวความเสี่ยง โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อย อย่างเช่น ลูกค้ามียอดสินเชื่อคงค้างอยู่กับธนาคาร 2 แสนบาท แต่ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ไป 20% ก็เป็นวงเงิน 4 หมื่นบาท แค่นี้ลูกค้าไม่น่าจะอยู่รอดได้ ทั้งนี้ หากไม่มีการปรับเงื่อนไขที่ว่าไป คาดว่าซอฟต์โลนของ ธปท.จะมีแบงก์ใช้บริการอย่างมากแค่ 1-2 แสนล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว