“ซิตี้แบงก์” หั่นจีดีพีไทย -6.8% เซ่นพิษโควิด ครึ่งหลังแนะกระจายลงทุนตลาด EM เอเชีย

CHINA - 2020/03/22: In this photo illustration the American multinational investment bank and financial services corporation Citibank or Citi logo seen displayed on a smartphone with a computer model of the COVID-19 coronavirus on the background. (Photo Illustration by Budrul Chukrut/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

“ซิตี้แบงก์” หั่นจีดีพีไทยปีนี้ติดลบ 6.8% เซ่นพิษโควิด หวั่นยิ่งเปิดประเทศช้าจะกระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจยากขึ้น คาด กนง.คงดอกเบี้ย 0.5% ยาวยันปี 2565 ชี้ครึ่งปีหลังสินทรัพย์เสี่ยงฟื้น แต่ P/E หุ้นไทยแพงในระดับ 18 เท่า แนะนักลงทุนกกระจายความเสี่ยงลงทุนต่างประเทศ เน้นน้ำหนักกลุ่มตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชีย “อุตสาหกรรมเทคโนโลยี-สุขภาพ-กลุ่มโทรคมนาคม-พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ-สกุลเงินเยน-ทองคำ”

นายบุญนิเศรษฐ์ ธัญวรอนันต์ ที่ปรึกษาทางการลงทุน ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบโควิด-19 ทำให้ธนาคารได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของไทยปีนี้จากเดิมที่คาดติดลบ 3.5% เป็น 6.8% แต่จะกลับมาบวกได้ 3.5% ในปีหน้า ทั้งนี้ยิ่งไทยเปิดประเทศช้าลงเท่าไหร่จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยากขึ้น เพราะไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวและส่งออกค่อนข้างมาก โดยมองนโยบายที่จะเห็นในอนาคตคือการกระตุ้นใช้จ่ายผู้บริโภคในประเทศเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้บ้าง ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% จนกระทั่งถึงต้นปี 2565 ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนไทยที่ปรับลดลงมาก แต่ระดับ P/E หุ้นไทยค่อนข้างแพงปรับขึ้นไปอยู่ที่ 18 เท่า เป็นจุดที่นักลงทุนต้องกระจายความเสี่ยงไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น

ส่วนปีนี้คาดการณ์จีดีพีโลกจะติดลบ 3.5% ก่อนที่จะฟื้นตัวเร็ว 5.5% ในปี 2564 ระดับอัตราเงินเฟ้อปรับตัวน้อยลงอยู่ที่ 1.8% และปีหน้าอยู่ที่ 2.4% ซึ่งอาจใกล้เคียงปี 2562 โดยความเสี่ยงยังเชื่อว่าจะเกิดผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่อง แต่จะน้อยลงจากข่าวการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 และมีความเสี่ยงการเมืองระหว่างประเทศ และสงครามการค้า ที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้ ถึงแม้ปีหน้ามองว่าจะมีการฟื้นตัวได้ก็ตาม

“ตั้งแต่ไตรมาส 2 สินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ ปรับตัวกลับขึ้นมาได้แรง บางอุตสาหกรม เช่น เทคโนโลยีทำจุดสูงสุดใหม่ได้ ดังนั้นเชื่อว่ามีโอกาสที่ตลาดหุ้นในครึ่งปีหลังอาจชะลอตัวแต่น้อยลง เพราะผลตอบแทนของสินทรัพย์เสี่ยงหลายๆ ภูมิภาคปรับตัวขึ้นมาเป็นบวกเล็กน้อย บางประเทศชะลอแต่น้อยลง” นายบุญนิเศรษฐ์กล่าว

ด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศเกิดใหม่ มีการอัดฉีดเงินโดยรวมประมาณ 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นตัวช่วยทำให้สินทรัพย์เสี่ยงมีการตกน้อยลง ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ จากที่เห็นการฟื้นตัวที่ดีในไตรมาส 2 โดยนโยบายดอกเบี้ยคาดว่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำนาน ซึ่งเป็นนโยบายการเงินที่ค่อยหนุนเพื่อลดภาวะผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ส่วนนโยบายการคลังเป็นอีกส่วนที่ช่วยได้มาก เพราะเม็ดเงินที่รัฐบาลแต่ละประเทศใส่เข้าไปเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมีมากถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นถ้ารวมเม็ดเงินทั้งหมด 15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยทำให้ตลาดและสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ มีความผันผวนน้อยลง

ส่วนผลประกอบการกำไรต่อหุ้นทั่วโลกโดยเฉลี่ยเชื่อว่าจะลดลงประมาณ 50% ในปีนี้ จากที่นักวิเคราะห์ทั่วโลกมองลดลง 18% โดยเรามองว่าความเสี่ยงยังคงมีอยู่ค่อนข้างมาก ในขณะที่อัตราปันผลทั่วโลกจะลดลง 35% แต่ทั้งนี้จะมีบริษัทที่ทดทานต่อภาวะโควิดได้ดี เช่น กลุ่มเทคโนโลยี และ เฮลธ์แคร์ ที่ยังจ่ายปันผลได้ดีกว่าค่าเฉลี่ย รวมทั้งบริษัทอื่นๆ ที่มีเงินสดจำนวนมาก โดยค่าเฉลี่ย P/E ของตลาดหุ้นทั่วโลกระยะยาวมองว่าจะอยู่ที่ 17 เท่า ถือว่าไม่แพงจนเกินไป ยังสามารถกระจายการลงทุนได้ โดยในภูมิภาคเอเชีย P/E อยู่ประมาณ 16.3 เท่า ยังถูกกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นทั่วโลก

ขณะที่ราคาน้ำมันปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 40-45 เหรียญต่อบาร์เรล และปีหน้าค่อยๆ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากโควิด-19 ทำให้ดีมานด์ในตลาดลดน้อยลง ทั้งนี้ทั้งนั้นดีมานด์ในตลาดค่อยๆ เพิ่มขึ้น จะเกิดความสมดุล จึงเชื่อว่าราคาน้ำมันได้พ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว ส่วนด้านราคาทองคำมองดอกเบี้ยที่ต่ำมาก และการทำ QE ของแต่ละประเทศใหญ่ๆ ทำให้เกิดภาวะเม็ดเงินล้นระบบ นักลงทุนสนใจลงทุนในทองคำมากขึ้น จึงมองเป็นเทรนด์ขาขึ้น คาดเป้าราคาทองคำปีนี้อยู่ที่ 1,700-1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และปีนหน้าอยู่ที่ 1,925 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ส่วนค่าเงินต้องจับตาเป็นพิเศษเพราะยังคงมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในปีนี้คาดยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะกลางถึงระยะยาวจากปัจจัยการขยายงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อตอบสนองสภาพคล่องต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนกรอบความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทไทยคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 31.0-31.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ธีมการลงทุน แบ่งเป็น 4 ธีม 1.ลงทุนกระจายความเสี่ยงลดความผันผวน  2.ลงทุนบริษัทที่มีการเติบโตที่ดี 3.ลงทุนในตราสารหนี้ที่ยังคงให้ดอกเบี้ยที่ดี 4.ลงทุนในสิ่งที่ปลอดภัย โดยให้น้ำหนักในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชียและกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สุขภาพ กลุ่มโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชั่น รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา สกุลเงินเยน ตลอดจนการลงทุนในทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำ